ไม้ที่ใช้ประกอบในการสร้างอะคูสติกกีต้าร์ "Top Tone woods" (ไม้หน้า) 
:
ก่อนอื่น... ผู้เขียนคิดว่าเราควรมาทำความเข้าใจถึง "คำศัพท์"
ที่ใช้ในการอธิบายคุณสมบัติของเสียงเพื่อง่ายต่อการอ้างอิงภายหลัง

1. Tone เวลาดีดกีต้าร์ การสั่นสะเทือนที่เกิดจากสาย "ก่อให้เกิดคลื่นเสียงหลัก"
ที่เรียกว่า Fundamental tone และ คลื่นย่อยๆที่เรียกว่า Overtones
คลื่นเสียงหลักในที่นี้หมายถึงเสียงชัด ที่ได้ยินครั้งแรกทันทีจากตัวโน๊ตตัวนั้นๆ
ส่วนคลื่นเสียงย่อยคือเสียงประกอบที่ตกแต่งให้เสียงรวมๆ มีสีสันมากขึ้น กีต้าร์ที่ดีทุกๆ ตัว
ล้วนมีองค์ประกอบของคลื่นเสียงทั้ง 2 แบบนี้ หากแต่อยู่ในสัดส่วนที่ต่างกัน
สิ่งนี้จึงเป็นเหตุผลอย่างหนึ่งที่ทำไม
กีต้าร์บางตัวเหมาะกับการเล่นแบบ Strumming บางตัวเหมาะกับ Finger Picking

2. Volume เป็นดัชนีบ่งบอกความดัง ที่เปล่งออกมาจากกีต้าร์
ดัชนีนี้ เป็นสัดส่วนโดยตรงก็คุณภาพของไม้ด้านหน้า (Soundboard),
Top Bracing, ความแข็งแรงของไม้ด้านหลัง/ด้านข้าง ขนาดของกีตาร์ และสายกีตาร์

3. Presence คำนี้เป็นตัวบ่งบอกประสิทธิภาพของกีตาร์
ซึ่งมักจะหมายถึงคุณภาพของเสียง ขณะที่ถูกเล่นเบาๆ หรือแรงๆ ประสิทธิภาพเป็นสิ่ง
ที่วัดกันยาก เพราะมันขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของแต่ละบุคคล หรืออีกนัยหนึ่ง "หูใครหูมัน"
ความคิดใครความคิดมัน เราเพียงแต่อาศัยประสบการณ์
ของผู้รู้เหล่านั้น เป็นแนวทางใช้ประกอบการพิจารณาเท่านั้น

4. Balance เป็นดัชนีบอกความสัมพันธ์ระหว่างตัวโน๊ตเสียงสูงกับโน๊ตเสียงต่ำ
กีตาร์ที่มี Balance ดีนั้น โน๊ตแต่ละตัวบนตลอดแนวคอกีตาร์
จะมีอิทธิพลเท่าเทียมกัน ไม่มีใครข่มใครแต่บางท่านอาจชอบ Balance
ค่อนไปทางเสียงทุ้ม (Boomy) บ้างก็เสียงแหลม (Bright) ซึ่งนั้น
ก็แล้วแต่สไตล์ (Style) และประเภทของไม้ที่ใช้ทำด้านหลัง และด้านข้าง

5. Separation เป็นความสามารถของกีตาร์ ในการแยกแยะความชัดเจนของ
แต่ละโน๊ตในขณะที่ Strum Chord หนึ่งๆ ถ้า Separation ไม่ดี
เสียงที่ออกก็จะพร่ามัว ไม่มีชีวิตชีวาอะไรทำนองนั้น อันนี้มีความสัมพันธ์กับคุณภาพของกีตาร์โดยตรง

6. Sustain ตัวนี้บอกระยะเวลาความยาวนาน ของเสียงจากโน๊ตตัวหนึ่งตั้งแต่เริ่มดังจนเงียบ
กีตาร์ที่มี Sustain ดี จะมีความสามารถรักษา หรือหนุน Fundamental Tones
และ Overtones จากกีต้าร์นั้นๆ มาถึงหู ของผู้ฟังได้ดียิ่งขึ้น

 

ไม้ที่ใช้ประกอบเป็นกีตาร์ เป็นปัจจัยสำคัญยิ่งอันหนึ่งที่จะได้มาซึ่งคุณภาพ
และความแตกต่างของเสียง ส่วนใหญ่ที่นิยมเช่น Sitka, Englemann, Cedar
จากที่เคยสอบถามกับทาง Martin, Taylor และช่างสร้างกีตาร์จากหลายๆ แบรนด์
ต่างให้ความเห็นตรงกันว่า "ไม้แผ่นหน้ามีผลประมาณ 70%" ของเสียงโดยรวมๆ
เพราะมันเกี่ยวข้องโดยตรงกับ Responsiveness (Volume), Quickness of its attack,
Sustain, Overtone Coloration (partial) และ Presence ในขณะที่ไม้แผ่นหลังและข้าง
รับผิดชอบเกี่ยวกับความกลมกล่อมของเสียงทุ้มกับเสียงแหลม และรวมไปถึง Balance ของเสียงด้วย

ผู้เขียนจะแบ่งหัวข้อของไม้ที่ใช้ออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ไม้ด้านหน้า กับ
ไม้ด้านหลังและข้าง แต่เราจะมาคุยเรื่องไม้หน้า (top-soundboard) กันก่อน....
:
ผู้เขียนได้รวบรวมความคิดเห็น จากผู้ผลิต ช่างกีตาร์จากแบรนด์ระดับโลกและผู้รอบรู้หลายฝ่าย
โดยมากเขาเหล่านั้นจะมีความคิดเห็นใกล้เคียงกัน เกี่ยวกับจุดเด่นจุดด้อยของไม้แต่ละแบบ 

สิ่งหนึ่งที่ควรรู้ไว้คือ ไม้แต่ละประเภทที่ถูกนำมาประกอบกีต้าร์ ไม่ว่าจะเป็น
ไม้ด้านหน้า ด้านหลัง และด้านข้าง ต่างก็มีเกรดมาตราฐาน (grade) ของมันเอง
ไม้คัดเกรดดีราคาแพง โดยปรกติจะขึ้นกับลวดลาย และความสวยงามเป็นหลัก
โปรดจำไว้ว่าไม้ที่ดูไม่สวยอาจจะให้เสียงดีเท่า หรือไม่อาจจะดีกว่าไม้ที่สวยงามเสียด้วยซ้ำ
Soundboards (Top) ไม้ที่นิยมถูกนำมาใช้เป็นไม้ด้านหน้า โดยมากจะมาจากตระกูล "Spruce"
หรือไม้ประเภทอื่นๆ ก็มีให้เห็น เท่าที่เห็นหลักๆ ในปัจจุบัน จะมีดังนี้

:

1. Sitka Spruce (Picea Sitchensis)
จัดได้ว่าเป็นไม้ที่ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายที่สุด เป็นไม้ "ยอดนิยมอันดับ 1"
Sitka Spruce มีความแข็งแรงเมื่อเทียบกับน้ำหนัก หาง่าย ต้นใหญ่
จึงง่ายต่อการตัดผลิต มีสีเหลืองอ่อนจนถึงส้มอ่อน แหล่งกำเนิดมาจากทาง
ด้านเหนือของแคลลิฟอร์เนีย รวมไปถึงอลาสก้า คุณภาพจะมีตั้งแต่ใช้ได้จนถึงดีเยี่ยม
ไม้คุณภาพคัดเกรด AAA+ ขึ้นไปจะมีราคาแพง และมักจะถูกใช้
โดยผู้ผลิตกีต้าร์แบบ Hand-Made ไม้ชนิดนี้ให้เสียง Balance ดีคมชัดโดยเฉพาะ
Fundamental Tone เวลาเล่นหนักรุนแรงเสียงจะไม่แตกง่าย
จึงเหมาะกับ Strumming, Flat picking Style และดนตรีประเภท Bluegrass

หรือ แม้การเล่นด้วยน้ำหนักมือที่เบา เช่นแนว Finger Picking หรือ Finger Style
เสียงก็ยังดัง ใสกังวาน ชัดเจนทุกๆ ย่านเสียง เรียกว่า หนักได้ เบาได้ ครอบคลุมทุกสไตล์

ด้วยความ Over All ของไม้ Sitka Spruce จึงถูกนำไปสร้างกีตาร์ ในทุกๆ ทรง
ไม่ว่าจะ Dreadnought OM OOO หรือ Jumbo ก็ตาม
เพราะความครบเครื่องของมัน ช่างกีตาร์ระดับโลก แบรนด์กีตาร์ระดับโลก
จึงนิยมใช้ไม้ Sitka Spruce ทำกีตาร์โปร่ง
นอกจากนี้ Sitka Spruce ยังมีความทนทานต่อสภาพอากาศอีกด้วย
:

2. Englemann Spruce (Picea Englemannii)
พบมากในระดับสูงเทือกเขา Rocky ประเทศสหรัฐอเมริกา
เมื่อเทียบกับ Sitka ไม้ชนิดที่มีเนื้ออ่อน และเบากว่า, สีครีมเกือบขาวนวลลายถี่สวยงาม
ไม้ชนิดนี้ให้เสียงนุ่มนวล เพราะมี Overtones สูง เหมาะสำหรับ Finger Style
แต่ความคมชัดของเสียงจะไม่ค่อยดี ถ้าเล่นแบบหนักๆ เช่นการเล่นตีคอร์ด แรงๆ
ช่างทำกีตาร์ระดับโลก จึงใช้ไม้ชนิดนี้กับกีตาร์ทรง OM หรือ GA เป็นหลัก
ไม่ค่อยนิยมใช้ทำกีตาร์ทรงเดทนอท (Dreadnought)

:

3.Adirondack Spruce (Red Spruce หรือ Picea Rubens) 
ไม้ชนิดนี้ราคาแพงสุด มีความแข็งแรงสูงเมื่อเทียบกับน้ำหนักตัว
ต้นของกำเนิดอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอเมริกา แถบ New England และ New York
ปัจจุบันเป็นไม้หายาก เพราะว่าถูกตัดนำไปใช้มากเกินจำกัดก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2
ไม้ชนิดนี้รวมความดีขอเสียงที่ได้ ทั้ง Fundamental กับ Overtones ในตัว
จึงเหมาะกับสไตล์การเล่นเกือบทุกรูปแบบ จุดด้อยของมันไม่ได้อยู่ที่เสียงหากแต่อยู่ที่สี และลายไม้
เนื่องจากเป็นไม้ขนาดเล็กและมีลายสีแดงแซม จึงทำให้หน้าไม้ของกีต้าร์ดูไม่เรียบไม่นวล
หรือไม่ค่อยสวย ไม้คัดคุณภาพก็พอมี แต่ราคาสูงลิบลิ่ว และก็เชื่อว่าไม่ได้เพิ่มคุณภาพเสียงแต่อย่างไร

แต่มันก็มีข้อด้อยตรงที่ มันจะแสดงอนุภาพออกมาอย่างเต็มที่ต่อเมื่อ เล่นด้วยน้ำหนักมือที่แรง ดังนั้น หากผู้เล่น มีกำลังนิ้วไม่มาก
เสียงที่ออกมาก็ไม่ต่างอะไรกับการเล่นไม้ Sitka Spruce ดีๆ นี่เอง! เราจึงพบว่า ช่างระดับโลก หรือกีตาร์แบรนด์ระดับโลก
ต่างใช้ Adirondack Spruce ในการทำกีตาร์ทรงเดทนอท (Dreadnought) ก็เพื่อให้เข้ากับแนวการเล่น คือ ตีคอร์ด Strumming โดยเฉพาะแนว
การเล่นแบบ Strumming, Flat picking Style และดนตรีประเภท Bluegrass
:

4. German Spruce (Picea Excelsa) หรือเรียกอีกชื่อว่า European Spruce 
เป็นไม้ยอดนิยมในหมู่กีต้าร์คลาสสิก (Classical Guitar) มาก่อน มีลายถี่สีขาวนวลสวยงาม
เหมือน Englemann จนบางครั้งทำให้เกิดความเข้าใจผิด 
เหมาะแก่การเล่นแบบ Finger Style เบาๆ มากกว่า Strumming
เพราะเมื่อเล่นด้วยน้ำหนักมือที่แรง แต่ละย่านเสียงจะไม่ชัดเจน หางเสียงจะพร่า

เราจึงพบว่า ช่างทำกีตาร์โปร่งระดับโลก หรือ แบรนด์กีตาร์ระดับโลกมากมาย ไม่ค่อยนิยมเอา German Spruce
หรือ European Spruce มาทำกีตาร์โปร่ง เรียกว่า นิยมใช้ทำกีตาร์ Classic มากกว่า ที่จะทำกีตาร์โปร่ง
:

5. Alpine Spruce (Picea Abies) หรือ Italian Alpine Spruce
เป็นไม้ขนาดเล็ก และมีคุณสมบัติคล้าย Red Spruce มีสีขาวนวลสวยงาม
ให้เสียงหวานคมชัดทั้ง Balance และ Sustain ดีมาก แต่ Playing in time
(Break-in period) อาจจะนานกว่า Spruce อื่นๆ
แหล่งกำเนิดมาจากเทือกเขา Alps ในประเทศยุโรป
ถูกนำมาใช้มากจนปัจจุบันไม้คุณภาพดีๆ เริ่มหายากขึ้น

:

6. Cedar (Thuja Plicata) หรือ Western Red Cedar
แพร่หลายมากในหมู่กีต้าร์คลาสสิก ตั้งแต่ในสมัยสง-ครามโลกครั้งที่ 2
ปัจจุบันก็นิยมถูกใช้กับ Steel String Guitar โดยผู้ผลิตที่มีชื่อเสียงหลายท่าน
เป็นไม้เนื้ออ่อนสีน้ำตาลอ่อนถึงเข้ม
ไม้ Cedar ให้เสียง Overtones ดีเยี่ยมมากแต่ Fundamental Tone ต่ำ
จึงไม่เหมาะกับการเล่นเพลงหนักรุนแรง คุณภาพของเสียงจาก Cedar เสมอต้นเสมอปลาย
ไม่เหมือนพวก Spruce ที่เสียงจะดีขึ้นตามกาลเวลาหรือระยะเวลาที่ถูกเล่น
แหล่งกำเนิดมาจากทางตอนเหนือของประเทศอเมริกา

ข้อดี…อีกอย่างของไม้ Cedar คือ “ทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงความชื้น” ได้ดีกว่า Spruce
ดังนั้น ในบรรดาไม้ที่มีน้ำหนักเบา อย่าง  German Spruce , Englemann Spruce
จึงได้รับความนิยมไม่เท่ากับ Cedar เพราะในแง่ความทนทาน สู้ Cedar ไม่ได้
สำหรับใครที่ชอบเสียงอบอุ่น นุ่มนวล warm มากๆ ไม้ Cedar เป็นทางเลือกที่ดี

:
เรียบเรียงโดย ทีมงานอะคูสติกไทย (Aspenglow)
สงวนสิทธิ์เนื้อหา+ภาพประกอบบนเวบไซด์ กรุณาแจ้งกับทีมงานอะคูสติกไทย ก่อนนำไปเผยแพร่