คงจะไม่ใช่คำพูดที่กล่าวเกินไป ที่ผมจะบอกว่า The Eagles คือวงดนตรีลำดับต้นๆ ที่คนไทยรู้จัก จะรู้จักแบบผิวเผิน หรือลึกซึ้งก็ว่ากันอีกที และที่มั่นใจอีกก็คือ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน รุ่นแล้วรุ่นเล่า คณะ The Eagles ก็จะอยู่ในใจของหลายๆ คน และใครหลายๆ คน
เมื่อปี 1994 ทั่วทุกๆ ซอกมุมของร้านขายซีดี หรือ VCD (นิยมมากในขณะนั้น) แทบทุกๆ ร้านจะเปิดแผ่น Concert ของคณะ The Eagles ในชุดการแสดงที่เรียกว่า Hell Freezes Over. ร้านไหนไม่เปิดเนี่ย โคตะระเชยๆๆๆ มากๆๆ ซีดีอัลบัมชุดนี้ มียอดจำหน่ายมากกว่า 16 ล้านแผ่นทั่วโลก ใครจะคิดแหละครับว่า วงดนตรียุค 70's ที่แตกตัวกันไปเมื่อปีสิบกว่าปีก่อน เมื่อถึงเวลาที่พวกเขากลับมารวมตัวกันอีกครั้ง แล้วจะได้รับเสียงตอบรับมากถึงขนาดนี้ แต่นี่แหละ... "ความมหัสจรรย์ของดนตรียุค 70's คณะ The Eagles แยกย้ายกัน (ซึ่งที่จริงควรผมควรจะใช้คำว่า วงแตกมากกว่า) เมื่อปี 1980 ด้วยเหตุผลต่างๆ มากมายที่ถูกกล่าวถึงทั้งวงใน วงนอก ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ผลประโยชน์ อีโก้ของแต่ละคน ฯลฯ คณะ The Eagles ถือเป็นวงดนตรีสายเลือดอเมริกันอย่างแท้จริง สมาชิกยุคก่อตั้งต่างก็เป็นคนอเมริกันด้วยกันทั้งสิ้น จากเด็กหนุ่มผู้รักสนุก บางคนเล่นดนตรีกลางคืนตาม PUB BAR พวกเขาคงไม่รู้ล่วงหน้าว่า วันหนึ่งพวกเขาจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคม (และธุรกิจ) ทางด้านดนตรีในยุค 70's ที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งยวด การก่อเกิดของ The Eagles เกิดขึ้นเมื่อปี 1971 ประกอบด้วย Don Henley, Glenn Frey, Bernie Leadon และ Randy Meisner จากนักดนตรี ที่คอยเป็นมือปืนรับจ้าง นักแต่งเพลง เล่นแบ็คอัพให้กับศิลปินอย่าง Jackson Browne, Linda Ronstadt, J.D. Sounther วันหนึ่งพวกเขาก็มีโอกาสออกมายืนอยู่ข้างหน้า พวกเขายังเคยไปยืนเกาะขอบเวทีดูวง Crosby Still Nash and Young (ผู้บุกเบิกเส้นทางเพลงก่อนหน้านี้) และหวังว่าวันหนึ่งเขาจะเป็นอย่างสิ่งที่เขาเห็นอยู่ตรงหน้า และเขาก็ทำได้!
"Glenn Frey"
เสียชีวิต ด้วยวัย 67 ปี เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2559
หลังจากที่ต้องเผชิญกับภาวะแทรกซ้อนด้วยโรคต่างๆ มากมาย
ไว้อาลัยให้กับศิลปินที่เรารัก “Glenn Frey” มา ณ โอกาสนี้ด้วย
Glenn Frey (เกลน ฟราย) เกิดที่ Detroit มิชิแกน ซึ่งเป็นเมืองใหญ่เต็มไปด้วยผู้คน และทั้งเป็นย่านธุรกิจการค้า ด้วยเหตุผลนี้จึงทำให้เขาได้เปรียบ นั่นคือ เขามีโอกาสได้เจอ และได้สัมผัสดนตรีหลากหลายแนว เช่นอย่างวง The Beatles, The Byds หรืออย่าง Buffalo Springfield, Glenn Frey มีบทบาทมากกว่าหลายๆ คน และยังเป็นตัวเชื่อมประสานให้อินทรีทุกๆ ตัวมารวมกันครบทั้ง 4 และทุกๆ คนในวง ต่างก็ยอมรับ ในตัวเขา(ณ ตอนเริ่มแรก) ชีวิตวัยเด็กของเขาออกจะเรียบง่าย ชอบเล่นกีฬาอย่างบาสเก็ตบอล ฟุตบอล และยกน้ำหนัก แต่ทว่าเขาก็ยังมีโอกาสได้เล่นดนตรี ตั้งแต่ยังเด็ก Glenn หัดเล่นเปียโนเมื่อตอนอายุ 5 ขวบ และต่อมาไม่นานก็หัดเล่นกีต้าร์ ในช่วงปี 1968 Glenn ตัดสินใจพาตัวเองออกจากบ้าน มุ่งหน้าสู่ LA เมืองในฝันทางทิศตะวันตก ของเหล่านักฝัน เขามีความฝันว่า อยากจะเป็น super star rock n' roll ให้ได้
และผนวกกับเป็นช่วงที่แฟนสาว ได้ย้ายไปอีกเมืองหนึ่ง เขาจึงตัดสินใจออกจากบ้านทันที
และแน่นอนว่า ใน LA มีทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นบริษัทแผ่นเสียง เงินทอง ผู้หญิง และยาเสพติด มันขึ้นอยู่กับว่า คุณจะสามารถหยิบ และเลือกที่จะหยิบสิ่งใดจาก LA
"Randy Meisner" Randy Meisner (แรนดี้ ไมสเนอร์) เกิดที่ Scottsbluff, Nebraska เมื่อ March 8, 1947 ผู้ที่จุดประกายให้เขาสนใจในเรื่องของดนตรี ก็คือ Elvis แต่ต่อมาเมื่ออายุ 17 ปี เขาได้เปลี่ยนมาเล่นเบสกีต้าร์ และได้เดินทางมาแสวงหาโชคทางดนตรีในแอลเอ ชีวิตในแอลเอ สำหรับเขาต้องถือว่าสาหัสมากพอสมควร แต่หลังจากล้มๆ ลุกๆ อยู่ได้ไม่นาน วันหนึ่งเขาก็ได้มีโอกาสเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวง Poco ในตำแหน่งมือกีต้าร์เบส Poco เกิดจาก Richie Furay กับ Jim Messina ซึ่งเป็นผู้ก่อสร้าง Poco ขึ้นมา เขาทั้งสองคนคือสมาชิกเก่าของวง Buffalo Springfield ที่มี Neil Young และ Stephen Still ร่วมอยู่ด้วย หลังจากสมาชิกทั้ง 4 แตกกระจายไปคนละทิศละทาง Neil Young และ Stephen Still ก็จับมือกันทำอัลบัมคู่กัน ส่วน Richie Furay กับ Jim Messina ก็หันหน้าเข้าหากันประกอบวง Poco ขึ้นมา นี่แหละครับความหลังครั้งเก่า ของ Poco และ Buffalo Springfield แต่ไม่นานนัก Randy Meisner ก็ต้องจำใจจากลา บอก say goodbye กับ Poco ด้วยเหตุไม่ลงลอยกับ Richie Furay ก็เลยต้องกลับไป หลบลมร้อน นอนซบอกเมียอยู่ที่บ้านนอก แต่วันพระไม่ได้มีหนเดียว!? หลังจากนอนซบอกเมียได้ไม่นาน เขาก็โดน Rick Nelson... (ผู้ที่เคยชวนเขาออกทัวร์ด้วย ในนามวง The stone canyon band) ... ชักชวนมาเล่น backup ให้กับวง และหลังจากนั้นไม่นาน เขาก็ได้มีโอกาสเข้าไปทัวร์กับ Linda และในที่สุดก็ได้มาเจอกับ Glenn Frey และ Don Henley Randy Meisner เป็นคนหนึ่งที่ร้องเสียงสูงมากทีเดียว เขาเคยฝากผลงานเพลงชั้นดีอย่าง Tryin' , และ Take to the limit ที่ทำให้ใครๆ ต่างพากันหลงไหลในตัวเขา และช่วงนั้น เขาก็กลายเป็นดาราประจำวงไปเลยทีเดียว หรืองานประสานเสียงที่เขาได้ฝากไว้อย่างยอดเยี่ยม เช่นในเพลง Saturday night เป็นต้น
และเพลงสุดท้ายสำหรับเขาในอัลบัม Hotel California ในเพลง Try in love again ซึ่งเป็นเพลงเด่นอีกเพลงในอัลบัมนี้
"Bernie Leadon" Bernie Leadon (เบอร์นี่ เลียดอน) เกิดเมื่อวันที่ 19 July 1947 ที่เมือง Minneapolis, Minnesota เมื่ออายุ 10 กว่าขวบได้ย้ายไปอยู่ที่เมือง San Diego เขาเริ่มสนใจในเครื่องดนตรีประเภทกีต้าร์, แบนโจ, และชอบที่จะเรียนรู้วิธีการเล่นดนตรีแนว Folk/ Bluegrass กลางปี 1960 เขาได้มีโอกาสร่วมเล่นดนตรีกับวงดนตรีต่างๆ มากมาย รวมถึงได้ตั้งวง The Byrds ร่วมกับ Roger McGuinn, David Crosby. Gene Clark และ Michael Clark ซึ่งประสบความสำเร็จดีทีเดียว เขายังเคยได้ร่วมงานกับศิลปินที่โด่งดังอย่าง Linda Ronstadt นอกจาก จะเคยเล่น Backup ให้กับ Linda เขายังเคยประพันธ์เพลงให้กับ Linda อีกด้วย ต่อมาไม่นาน เขาได้ย้ายมาอยู่ในเมือง Florida และได้มีโอกาส รู้จักกับครูสอนดนตรีคนหนึ่ง นั่นคือ "Don Felder" และมิตรภาพบางๆ ของทั้งคู่ก็ได้เกิดขึ้นที่นี้ ในปี 1970 เขาได้ร่วมงานกับ The Flying Burrito Brother ของ Gram Parson โดยได้ออกอัลบัมมาสองชุด นั่นคือ Burrito Deluxe 1970 กับ The Flying Burrito Brother 1971 ในเวลาต่อมาเขาได้ออกจากวง และได้เข้ามาเล่น Backup และออกตระเวนเล่นโชว์ในงานต่างๆ ให้กับ Linda และช่วงเวลานี้เอง ที่ทำให้พญาอินทรีทุกๆ ตัวได้มารวมตัวกัน เขาร่วมเล่นให้กับ Linda ได้ไม่นาน เขาก็บอกอำลา เพื่อออกมาสร้างฝันของตัวเอง นั่นคือการเข้ามาทำวง The Eagles Bernie Leadon เป็นคนที่เล่นเครื่องสายได้เกือบทุกๆ ชนิด
ไม่ว่าจะเป็น Acoustic/Electric Guitar, Piano, Banjo, Pedal Steel, Mandolin ฯลฯ
เขาเป็นพญาอินทรีตัวสุดท้ายที่ได้เข้ามาร่วมฟรอมวงกับ The Eagles และก็ยังเป็นคนแรกที่ลาออก!? จาก The Eagles.
เขาได้ฝากผลงานเพลง My man ซึ่งถือเป็นบทเพลง Classic ที่ควบคู่กันกับบทเพลง The Best of my love
ที่ทำให้อัลบัม On the border กลายเป็นอัลบัมที่ดีอัลบัมหนึ่ง ของวง The Eagles ในปีนั้นBernie Leadon เขียนบทเพลง "My man" เพื่ออุทิศให้แด่ "Gram Parsons" ผู้ซึ่งให้กำเนิดดนตรีแนว Country Rock ณ เมื่อตอนปี 1960
"J.D Souther & Jackson Browne" "เพื่อนคู่ทุกข์คู่ยากของ Glenn และผู้มีบทบาทสัมคัญต่อวง The Eagles" ที่ LA เขาได้มีโอกาสรู้จักกับ J.D. Souther (John David Souther) เนื่องจากทั้งสองคนมีแฟนที่เป็นพี่น้องกัน ในช่วงที่เขาทั้งสอง มีโอกาสได้รู้จักกันครั้งแรก J.D Souther ยังไม่มีอะไรทำเป็นเรื่องเป็นราว J.D. เลยสอนให้ Glenn หันเล่นเพลงแนว Country และมีโอกาสทำวงด้วยกัน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ต่อมา LA ก็ได้นำพาให้ Glenn ได้มีโอกาสรู้จักนักแสวงโชคอีกคน นั้นคือ Jackson Browne และทุกๆ อย่างก็เริ่มดีขึ้น, Jackson Browne เขียนเพลงให้ศิลปินคนอื่นๆ ร้องเล่นกันในช่วงนั้น แม้ว่างานหลัก ของ Jackson Browne คือการเขียนเพลง แต่ความฝันของเขาคือ การได้ออกอัลบัมเดี่ยวๆ ได้ร้อง ได้เล่น ในบทเพลงที่เขาต้องการ ด้วยความถูกชะตากันเป็นอย่างดี เขาทั้ง 3 คน จึงตัดสินใจมาเช่า Apartment อยู่ด้วยกันที่ Echo park โดยที่ Glenn พักอยู่ในชั้นบน กับ J.D ส่วน Jackson Browne พักอยู่ด้านล่างคนเดียว, Glenn มักจะนั่งฝันหวานกับการเปิดแผ่นเสียงฟัง และวาดภาพของตัวเอง ที่จะมีแผ่นเสียงออกมาบ้าง และบางครั้งก็เพลินกับการฟัง Jackson Browne ร้อง/เล่นเปียโน เพราะเปียโนของ Browne ตั้งอยู่ตรงหัวเตียงระหว่างชั้น 1 และ 2 พอดี และก็ด้วยเพราะเหตนี้แหละ ที่ทำให้ Glenn มีโอกาสได้ยิน Jackson Browne ร่ายรำบทเพลง Take it easy อยู่เป็นสิบๆ รอบ และหลายสัปดาห์ แต่ดูจะไม่มีท่าทีว่าจะจบลงได้ Glenn เลยขออาสาเขียนเนื้อร้องในท่อนสองต่อให้, Glenn ยอมรับว่า เขาได้รับความรู้ในการเขียนเพลงมากจาก บราวน์ และเขาก็เรียนรู้ที่จะปรับเปลี่ยนบางส่วนให้เข้ากับตัวเอง ที่ Echo park Apartment พอมีเวลาดีๆ ทั้งสามก็จะแจมเพลงกันอย่างเมามันส์ และบางทีก็ชวนกันออกไปเที่ยวที่ The Troubadour Club ซึ่งที่นี้เป็นแหล่งรวมของนักดนตรีฝีมือดี วันไหนคืนไหนที่โชคดี ก็จะได้เห็นวงดนตรีชั้นยอดอย่าง Crosby Still Nash and Young (CSNY) หรือไม่ก็ Joni Mitchell, Van Morrison, Randy Newman แจมกันอยู่บนเวทีอย่างเมามันส์ การเข้ามาของพญาอินทรีสองตัวหลังอย่าง แรนดี้ ไมสเนอร์ และเบอร์นี่ เลียดอน ทำให้ความฝันของ The Eagles ใกล้จะเป็นความจริงแล้ว นั่นคือการออกผลงานอัลบัม ... ทุกๆ คนต่างเชื่อมั่นว่า เราทุกๆ คนเก่ง เราร้องเพลงดี เขียนเพลงดี เงินทอง ชื่อเสียง และผู้หญิง และนี่ก็คือความคิด (เมื่อทุกๆ พญาอินทรีรวมตัวกันได้ครบทั้งสี่ตัว) ...ที่เชื่อมั่นในตัวเอง และเชื่อมั่นในทีม รวมไปถึงความคึกคะนองทางความคิด ของวัยรุ่นแอลเออย่าง Glenn Frey (เกลน ฟราย)
"Randy Meisner, Glenn Frey, Don Henley, Bernie Leadon" Glenn Frey และ Bernie Leadon ช่วยกันคิดถึงชื่อวง และสัญลักษณ์ของวง ในที่สุดเขาลงความเห็นตรงกันว่า เราควรจะใช้ชื่อว่า "The Eagles" Bernie Leadon ประทับใจต่อภาพลักษณ์ของนกอินทรี เพราะมันให้ความรู้สึก ที่สื่อถึงความยิ่งใหญ่ หรือแม้แต่การสื่อถึงจิตวิญญาณ ที่เต็มไปด้วยพลังแห่งความมุ่งมั่น นกอินทรีบินได้สูง และบินเข้าใกล้กับดวงอาทิตย์ที่สุด "ผมหวังว่าพวกเราจะนำพาดนตรีของพวกเรา ให้บินไปได้สูงเช่นเดียวกัน" และโดยส่วนตัวแล้ว Bernie Leadon ก็มีความสนใจในเรื่องของตำนานพื้นเมืองของเผ่าอินเดียนอยู่เป็นทุน ซึ่งสังเกตได้จากบทเพลง Witchy woman ที่ Bernie Leadon เป็นคนคิดท่อน Riff intro ของเพลงนี้ ซึ่งจะมีความรู้สึกถึงท่วงทำนอง ของเผ่าอินเดียนแดงอย่างชัดเจน ปกอัลบัมแรกของ The Eagles ตกลงใช้สัญลักษณ์ของนกอินทรีที่บินสูงตระหง่านเหนือทะเลทราย และมีชื่อวง The Eagles ปรากฏอยู่บนปีกนกอินทรี (เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่า พวกเขาพร้อมที่จะบินแล้ว) ซึ่งพวกเขาพากันไปถ่ายทำกันที่นอกเมือง LA ซึ่งแสดงถึงมนต์ขลังของบทเพลงแห่งท้องทุ่ง Leadon เลือกใช้เฉดสีน้ำเงิน และเป็นภาพถ่ายใกล้ๆ ค่ำ เพื่อให้ดูลึกลับชวนติดตาม หน้าปกไม่มีรูปของสมาชิกปรากฏให้เห็น แต่จะซ่อนไว้ในปกในแทน
ผลงานแรกนี้พวกเขายังไม่มีเพลงที่เขียนไว้มากพอ ดังนั้นเขาจึงนำเอาบทเพลงของศิลปินอื่นๆ มา cover ในแบบของ The Eagles เช่นบทเพลง Nightingale ที่แต่งไว้โดย Jackson Browne หรือแม้แต่เพลงที่สร้างชื่อให้กับ The Engles อย่าง Peaceful easy feeling ของ Jack Tempchin ความสำเร็จในอัลบัมชุดนี้อยู่ในระดับที่พอใจสำหรับการเริ่มต้นของเขา ในสำเร็จมากพอที่จะทำให้ทุกๆ คนพอใจ มีชื่อเสียง มีเงินทอง ยาเสพติด และผู้หญิง ตามแบบฉบับของนักดนตรีที่ประสบความสำเร็จในยุค 70 (อัลบัมนี้ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ มียอดขายเกิน 500,000 แผ่น) บทเพลงอย่าง Take it easy ทำให้ The Eagles เป็นที่รู้จักมากขึ้น และต่อมาภายหลัง เพลงนี้ก็กลายเป็นเพลงอีกเพลงหนึ่ง ที่เป็นเหมือนเครื่องหมายของวง (เช่นเดียวกันกับเพลง Hotel california) แม้ว่าพวกเขาจะได้ Produce มือดีอย่าง Glyn Johns (โปรดิวเซอร์มือดีจากอังกฤษ) ที่เคยทำงานร่วมกับวงดนตรีชั้นยอดอย่าง The Beatles, หรือ Led zeppelin พวกเขาทั้งหมดจึงบินไปอังกฤษเพื่อเริ่มต้นบันทึกเสียง แต่ทว่าลึกๆ แล้ว ส่วนตัวของ Glenn Frey ก็ดูจะไม่ค่อยเชื่อมือ หรือให้ความยกย่องสักเท่าไร นั้นคงเพราะว่าตัว Glenn ต้องการที่จะสร้างซาวด์ของตัวเอง ผมเชื่อว่าเขาต้องการสร้างลายเซ็นของตัวเองลงไป ในบทเพลงของ The Eagles โดยผ่านซาวด์ของดนตรีในแบบที่เขาต้องการ เอาเข้าจริงๆ แล้ว Frey อาจจะต้องการให้ producer เป็นแค่ที่ปรึกษามากกว่าที่จะมาสร้างลายเซ็น ผมลองคิดๆ ดู... อืม... มันคล้ายกับที่ George Martin ทำไว้กับ The Beatles อย่างไงอย่างงั้นเลย ผมยังมาคิดถึงช่วงที่ George Martin เข้ามาเป็น Producer ให้กับคณะ America ลองฟังเพลงอย่าง Another try แล้วคุณอาจจะเห็นด้วย ที่ Producer มักจะมีลายเซ็นของตัวเองลงในอัลบัมของศิลปินอยู่เสมอๆ
ก่อนหน้าจะออกอัลบัมแรกนี้ พวกเขาค้นหาทางเพื่อที่จะออกผลงานกันอยู่นานสองนาน จนกระทั่งได้ยิน Jackson Browne เอ่ยว่า David Geffen (เดวิด เกฟเฟน) ผู้ซึ่งเป็นนักแต่งเพลง และเป็นนักบริหารซาวด์แอนจีเนียอยู่ในแอลเอ Glenn ได้มีโอกาสรู้จัก David Geffen ผ่านทาง Jackson Browne เขารีบโทรฯ หา Don Henley ด้วยความตื่นเต้น วันที่ทั้งสี่คนเข้าไปหา David Geffen Bernie Leadon ผู้ที่มีอาวุโสที่สุดเป็นผู้เจรจา อีกทั้งตัวเขาก็เป็นคนที่มีบุคลิกที่เชื่อมั่นในตัวเองสูง เขาเดินเข้าไปหา David Geffen พร้อมว่านามบัตรลงบนโต๊ะ ต่อหน้าผู้จัดการวง Crosby Still Nash (CSN) อย่างไม่เกรงกลัวว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นพร้อมพูดว่า "เราทั้งหมดอยู่ที่นี้แล้ว คุณจะเอาเราหรือไม่ก็แล้วแต่คุณ?! Glenn เหมือนจะเป็นคนแรกๆ ที่กังวลว่า วันหนึ่งวงจะไปได้ไม่ถึงไหน เราทั้งหมดก็อาจจะต้องวงแตก เขาได้เห็นรุ่นพี่ๆ หลายๆ วง เป็นแบบนี้ มาแล้วทั้งนั้น เช่น Poco หรืออย่าง Buffalo springfield เป็นต้น Glenn เล่าว่า พวกเราล้วนเป็นผลผลิตที่แสนจะลงตัว ทุกๆ คนเก่ง หน้าตาดี ร้องเพลงได้ไพเราะ เขียนเพลงดี และทุกๆ คนก็มีความเชื่อมั่น ในตัวเองสูง ทุกๆ อย่างล้วนเป็นสูตรผสมทางดนตรี 70 ที่ลงตัว ไม่ใช่เรื่องยากที่เราจะทำให้เพลงของเราไปโลดแล่นอยู่ในร้านขายแผ่นเสียง หรือหน้าปัดวิทยุ หรือแม้แต่จะให้เพลงขึ้นไปอยู่บนบิลบอร์ดชาร์ทในอันดับต้นๆ ก็ตาม?! (คุณดูเอาแล้วกันว่าเขามีอัตราสูงแค่ไหน แต่นี้แหละครับ คือโครงสร้างของผู้ที่จะยิ่งใหญ่ได้)
"Randy Meisner, Bernie Leadon, Don Henley, Glenn Frey" ปกสำหรับการวางโปรเจ็ก อัลบั้ม Desperado Desperado ตำนานของพวกนอกกฎหมาย หรือผู้ซึ่งสิ้นหวัง มีข้อถกเถียง และมุมมองที่ต่างกันออกไปในเรื่องความหมายของคำว่า "Desperado" ?? ผมได้มีโอกาสคุยกับผู้ที่รู้เรื่องภาษา และผู้ที่มีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องราวของ The Eagles ท่านเหล่านั้นบอกผมว่า Desperado คำนี้จริงๆ แล้วไม่ได้ มีจากรากศัพท์ในภาษาอังกฤษ แต่น่าจะมาจากต้นกำเนิดในภาษาสเปน (ซึ่งจะเขียนอีกแบบ) แต่ฝรั่งนำมาปรับใช้เรียกและเขียนว่า Desperado ซึ่งให้นิยามความหมายว่า คนที่สิ้นหวัง หรือพวกนอกกฎหมาย(โจร) ที่สร้างกฎของตัวเองโดยไม่สนใจกฎบ้านกฎเมืองแต่อย่างใด จุดเริ่มต้น ของการทำอัลบัม Desperado มาจากบุคคล 3 คน นั้นคือ Jackson Browne, Glenn Frey และ J.D. Sounther (เพื่อนร่วมแก็งกันมาตั้งแต่ The Eagles ยังไม่ทำอัลบัมชุดแรก) วันหนึ่งหลังจากที่ทั้งสามคนได้พุดคุยกันในเรื่องต่างๆ Jackson Browne เสนอความคิดให้กับ Glenn Frey ว่า เราน่าจะทำอัลบัมที่เกี่ยวกับ พวกนอกรีต/นอกกฎหมาย หรือพวกนอกรีตในยุคโบราณ ที่เป็นตำนานเล่าขาน... อย่างเช่นเรื่องของแก็งค์วายร้ายอย่างพี่น้องตระกูล Dalton Glenn ได้ฟังก็ยิ้มรับข้อเสนอ ส่วน J.D. Sounther ก็บอกว่า... งั้นผมเอาด้วย เราจะช่วยคุณเอง เราจะเป็นส่วนหนึ่งของ The Eagles ว่าแล้ว เขาสามคนก็ช่วยกันร่างโครงเรื่องของ Desperado ไว้คราวๆ ก่อนที่ Glenn Frey จะเอาข้อมูลทั้งหมดไปคุยกับเพื่อนๆ ในวง The Eagles ทั้ง Glenn Frey และ Don Henley ช่วยกันเขียนเนื้อเพลง Desperado, Doolin-Dalton และ Tequila Sunrise (เพลงนี้ Glenn แต่งในตอนเช้าตรู่ ของวันใหม่ ด้วยอารมณ์ค้างจากการดื่ม หลังจากที่เมาจนหัวราน้ำ) หลังจากนั้น Randy Meisner และ Bernie Leadon ก็เอาจริงเอาจังการการทำงาน อย่างไม่ลืมหูลืมตา ทั้งที่แม้ว่า David Geffen (ผู้จัดการค่ายเพลง) จะไม่ค่อยเห็นด้วยกับ Concept นี้ เพราะเกรงว่าแฟนเพลงจะเข้าไม่ถึงกับ concept ที่ลึก และแรงแบบนี้ แต่ด้วยความมี Ego ที่แรงเกินจะเบรค และพวกกับความเชื่อมั่นใน Style Eagles เขาทั้งหมดก็เชื่อว่ามันจะออกมาดี เรื่องเล่าขานของ Doolin-Dalton (แก็งนอกกฎหมาย) เริ่มขึ้นเมื่อปี 1892 จากพี่น้องตระกูล Doolin และ Dalton ซึ่งเดินแล้วมีอาชีพรับราชการ ใน Kansas แต่ความที่รู้สึกว่า การหาสร้างตัวจากการรับราชการมันรวยช้าไป เลยมีความคิดว่า เราน่าจะค้าของเถื่อน ฯลฯ พวกเขาทำจากโปรเจ็กเล็กๆ จนในที่สุดพวกเขาก็วางแผนโปรเจ็กที่ใหญ่ขึ้น นั่นก็คือออกปล้นธนาคาร! Concept ก็คือ เพื่อต้องการสร้างความมั่งคั่ง และชื่อเสียงให้กับตัวเอง และวันที่ลงมือโชคก็ไม่เข้าข้างโจร เพราะทั้งหมดถูกยิ่งตายหน้าธนาคาร เหลือรอดเพียงคนเดียว ซึ่งก็โดนจำคุก (Bill Doolin) ต่อมาก็แหกคุก แต่ว่าก็ไม่รอด ซึ่งโดนตามจับและถูกจับตายในที่สุด... หากใครมีอัลบัม Desperado อยู่ในมือก็จะเห็นสมาชิก The Eagles ล่อเลียนแก็งค์วายร้าย โดยภาพถ่ายอยู่ในกิริยาที่นอนเรียงรายถูกมัดมืออย่างหมดท่า หรือแม้กระทั่ง Jackson Browne และ J.D. Souther ก็ยืนแจมอยู่ในภาพฉาวนี้ด้วย
ภาพจำลองเหตุการณ์ ในวันที่พี่น้องตระกูล Doolin และ Dalton ถูกจับตาย หากคุณได้ฟังเพลง Doolin-Dalton ในหน้า A ของอัลบัม จะทราบว่า เป็นการบรรยายถึงการเข้ารวมแก็งค์กัน และเมื่อฟังในหน้า B ของอัลบัม ในเพลง Doolin -Dalton/ Desperado reprise ก็จะเป็นการบรรยายถึงช่วงจุดจบสุดท้ายของแก็งค์ แต่อย่งไรก็ตาม Desperado สามารถมองได้ใน มิติของความรัก และการตักเตือนสติของเหล่าวายร้าย ในบทเพลง Desperado - Jackson Browne มีส่วนสำคัญมากทีเดียวในการนำเสนอ และช่วยตกแต่ง และยังมีส่วนเขียนเนื้อเพลงในบางช่วง เช่นประโยคที่ว่า... Don' you draw the queen of diamonds, boy She'll beat you if she's able You know the queen of heats is always your best bet.... เป็นต้น
ลองฟัง Doolin Dalton ในเวอร์ชั่น J.D. Souther ร้อง
เสน่ห์ของบทเพลง Doolin-Dalton เริ่มต้นจากเสียงริธึ่มบางเบาในคอร์ด G และตามด้วยเสียงเป่าฮาโมนิกาที่ออกจะโหยหวนในทำนอง และเมื่อบวกเข้ากับเสียงร้องของ Don Henley ในช่วงแรก ยิ่งทำให้บทเพลงนี้น่าสนใจมากขึ้น และแน่นอนว่าบทเพลง Doolin-Dalton บทเพลงที่ดีที่สุดบทเพลงหนึ่งในอัลบัมนี้ พวกเขาทุกๆ คนลงความเห็นว่าอยากจะให้ผลงานอัลบัมนี้ เป็นการเสนอถึงชีวิตของวายร้าย แต่เป็นวายร้ายในแบบโรแมนติก และหวานหยด ในแบบ Rock 'n Roll แต่อย่างไรก็ตามพวกเขาก็ยังหนีความเป็นบูลแกรสไม่ได้ สังเกตจากบทเพลงอย่าง Twenty one ซึ่งแต่งโดย Bernie Leadon แต่ก็น่าตกใจเมื่อมาถึงบทเพลง Out of control ที่ทั้ง Glenn Frey และ Don Henley ทำไว้หนักมาก ซึ่งแน่นอนว่า หนักกว่าเพลงอื่นๆ ในอัลบัมนี้ ผมว่าเสียงกีต้าร์แตกๆ น่าจะบงบอกถึงการใช้ชีวิตในแบบบ้าคลั่ง ไม่สนใจถูกผิด การพนัน เหล้ายา และผู้หญิงในแบบร็อคยุค 70 ที่ดูเข้ากันได้ดีอย่างแนบเนียนอย่างที่รู้ๆ กัน (หรือผมอาจจะมอง The Eagles ในแง่ลบเกินไป?) ผลงานอัลบัม Desperado นี้ พวกเขาใช้เวลาบันทึกเสียงใน แอลเอ สตูดิโอ รวม 3 สัปดาห์ ในปี 1973 สิ่งที่ผมได้รู้สึกจากการนั่งฟังงานเพลงชุดนี้ ของ The Eagles ก็คือพัฒนาการของ The Eagles และฝีไม้ลายมือที่มีความเหนือชั้น ของ Glenn Frey และ Don Henley โดยเฉพาะในส่วนของการเขียนเนื้อเพลง และการวาง concept ของอัลบัม และที่มองข้ามไม่ได้ก็คือ Jackson Browne และ J.D. sounther ที่เข้ามาค่อยเสริมช่องว่างของ The Eagles ดังนั้นสำหรับผมแล้วถือว่า Desperado ถือเป็นมาสเตอร์พีซของพวกเขา (เช่นเดียวกันกับอัลบัม Hotel california)
ฉากจำลองการปล้นของพี่น้องตระกูล Doolin และ Dalton "Desperado" ออกวางจำหน่ายในปี 1973 แต่น่าแปลกใจว่า ยอดขายในปีนั้นกลับไม่ดีควรอย่างที่มันจะเป็น หรือแม้กระทั่งการก้าวขึ้นสู่ในชาร์ท แต่กลับสร้างความประหลาดใจว่า Desperado กลับมียอดขายดีในเวลาต่อมา นั่นคือภายหลังจากที่ผลงานอัลบัม On The bonder และ On of this night ประสบความสำเร็จอย่างสูง สำหรับผมแล้ว Desperado ถือเป็นผลงานชุดที่ระดับ Masterpiece ชุดหนึ่งของวงการดนตรี 70' ไม่ว่าผลงานอัลบัมอย่าง Desperado จะประสบความสำเร็จมากน้อยขนาดไหนก็ตาม แต่ปมความขัดแย้งลึกๆ ภายในจิตใจของ Producer กับ Glenn Frey ก็ยังก่อตัวระอุอยู่ภายในใจตลอดเวลา Glenn พยายามสร้างซาวด์ และทางดนตรีของตัวเองในแบบที่เขาถนัด เพื่อให้ The Eagles เป็นในแบบที่เขาต้องการ แต่ Glyn Johns (กลีน จอห์นส) Producer ผู้ซึ่งมักจะเอาลายเซ็นของตัวเองติดไปกับความเป็น The Eagles ด้วยเสมอๆ Glenn บอกกับทุกๆ คนว่า... ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องเปลี่ยนตัว Producer คนใหม่สักที กับความสำเร็จอีกครั้งของ The Eagles ผ่านงานอัลบัม "On The Bonder" ผลงานอัลบัม On The Bonder มีการเขียนเพลงที่หยิบยกประเด็นการเมือง ซึ่งช่วงนั้นเป็นยุคของประธานาธิปดีริชาร์ด นิกสัน ผลงานชุดนี้ นอกจาก Browne และ Souther จะร่วมแจมเช่นเคย ก็ยังได้ Don Felder มาโซโล้กีต้าร์ไฟฟ้าให้ในเพลง Already Gone และ Good day in Hell หลายคนต่างชอบใจ และประทับใจกับฝีมือของ Don Felder รวมถึงผมด้วย ผมว่านอกจากที่ Don Felder จะเล่น Heavy Rock หนักๆ ได้ดีแล้ว เขายังเล่น Rock n' roll ได้อย่างดีอีกด้วย และมันก็ชัดเจนในบทเพลง Already Gone จริงๆ สะด้วย หรือแม้แต่เทคนิคการ Slide Guitar ในบทเพลง Good day in hell ผมว่า ไอ้หมอเนี่ยเจ๋งจริงๆ แต่ว่าสำหรับ Bernie Leadon อาจจะไม่ใช่ อย่างที่สมาชิกในวงคิดไว้ เพราะ Bernie Leadon ยังไม่อยากให้ The Eagles หลุดจากดนตรี Country rock หรือ Blueglass มากเกินไป Bernie Leadon ได้เขียนเพลงไว้หนึ่งเพลงในอัลบัมนี้ และเพลงนี้ก็เป็นเพลงหนึ่งที่ดีที่สุดของอัลบัม On The bonder, ผมกำลังจะกล่าวถึงเพลง My Man ที่เขาได้เขียนไว้เพื่อระลึกถึง และอุทิศให้กับ Gram Parsons ผู้บุกเบิก และเป็นเหมือนต้นกำเนิดดนตรี Country rock. Gram Parsons เสียชีวิตด้วยวัยยังหนุ่ม ด้วยอุบัติเมื่อ 19 กันยายน 1973 เริ่มทำอัลบัมในแนว Country rock ตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 60 ถึงต้น 70' บทเพลง My man เป็นบทเพลงหนึ่งที่กินใจตั้งแต่วงเคยบันทึกเสียงมา "หากบทเพลง The Best of my love หรือ Ol'55 (อยู่ในอัลบัมนี้) เป็นบทเพลงที่ดี และน่าประทับใจ ผมว่า My man ก็อยู่ในฐานะที่ไม่ต่างกันนัก"
ขณะที่คุณเปิดเพลงนี้ และลองจินตนาการถึงจุดมุ่งหมายของ Leadon ที่ได้แต่งเพลงนี้ เราจะพบว่าเขารู้สึกสูญเสียขนาดไหน เสียงโซโลกีต้าร์ของเขา ทำให้เรารู้สึกว่าเราได้สูญเสียไปกับเขาด้วย และแน่นอนว่า มันเหมือนเป็นคำพูดที่เศร้าสร้อย ผ่านสำเนียงการโซโลกีต้าร์ที่หดหู่อย่างยิ่ง ผมคิดว่า ผมเข้าใจล่ะ... Leadon รู้สึกไงกับการสูญเสียเพื่อนที่เป็นแรงบันดาลใจ ที่ซึ่งเขายกย่อง และเรียกว่า สุภาพบุรุษของฉัน... My man Randy Meisner : บทเพลง Is it true? น่าจะเป็นเพลงหนึ่งที่เทียบได้กับเพลงที่ผมได้กล่าวมา ผมคิดว่า Randy Meisner ทำได้ดีทีเดียว แต่ฟังๆ ไปมาหลายๆ รอบ ก็ทำให้รู้สึกคิดถึง Poco ไม่ได้ แต่ไม่ว่าจะอย่างไร Is it true? มันก็เข้าไปอยู่ในใจผมแล้วล่ะ กับอีกอย่างหนึ่งที่น่าสังเกต และน่าชื่นชมก็คือฝีไม้ลายมือของการบรรเลง Slide guitar ของ Glenn Frey ผมไม่แปลกใจแล้วล่ะว่า ทำไมบางคนถึงพูดว่า Glenn Frey เล่นกีต้าร์ได้ดีไม่แพ้มือกีต้าร์คนอื่นๆ ในวง เพียงแต่ว่าเขาไม่มีหน้าที่ที่จะโชว์สิ่งเหล่านี้บนเวที แม้แต่ตัว Glenn เองก็เคยบอกว่า "หน้าที่ของผมคือการวาง concept ร้องเพลงให้ออกมาดีที่สุด ทำไมผมต้องแข่ง หรือแย้ง Solo Guitar กับเพื่อนๆ ด้วย พวกเขาทำได้ดีอยู่แล้ว" หลังจากประสบณ์ความสำเร็จพอประมาณจากอัลบัม "On The bonder" พวกเขาออกแสดงตามสถานที่ต่างๆ และเมื่อว่างจากการแสดง ของตัวเอง เขาก็มักจะไปร่วมแจมกับวงดนตรีเพื่อนๆ ไม่ว่าจะเป็นการกระโดดขึ้นไปแจมกับ Jackson Browne, J.D. Souther, Linda Lonstadt, Al Perkins, Randy Newman, Dan Fogelberg และแม้กระทั่ง Joe Walsh ก็ตาม
"Don Felder" Don Felder (ดอน เฟลเดอร์) ...พญาอินทรีตัวที่ 5 การเข้ามาของ Don Felder ทำให้งานเพลง หรือทิศทางของดนตรีเปลี่ยนแปลไปเป็น Rock มากขึ้น กลิ่นไอของเครื่องสายของ Bernie Leadon ค่อยๆ จางลงไปทุกที การเข้ามาของ Don Felder ทำให้ Leadon รู้สึกอึดอัดอยู่พอสมควร แม้ว่า Don Felder จะไม่มีบทบาทมากหนัก (เหนือ Leadon) ในอัลบัม "On the Bonder" แต่ Leadon ก็มองภาพออกว่าทิศทางในอนาคตของดนตรี The Eagles จะเป็นอย่างไร?! Don Felder เกิดเมื่อ 21 กันยายน 1947 ในเมืองเล็กๆ แถวๆ Florida เขาเป็นคนที่เก่งมากคนหนึ่ง จะเรียกว่า เขาเป็นคนอัจฉริยะ (Genius) หรือเป็นคนซึ่งมีพรสวรรค์ก็ได้. Don Felder ได้มีโอกาสแจมกีต้าร์กับ Stephen Still (หนึ่งในสมาชิกวง CSN) ทั้งสองเคยร่วมกันอัดเสียง และออกตระเวนเล่นดนตรีด้วยกันมาแล้ว, จริงๆ แล้วทั้ง Bernie Leadon และ Don Felder คุ้นเคยกันมาก่อน (ก่อนที่จะมาเจอกันอีกทีในวง The Eagles) ซึ่ง ณ ตอนนั้น เขาทั้งคู่ได้เคยแลกเปลี่ยนความรู้ในเรื่องเครื่องสายกัน Bernie Leadon แนะนำวิธีการเล่น Banjo, Mandolin และ Acoustic guitar ให้กับ Don Felder ส่วน Felderก็แนะนำเรื่องกีต้าร์ไฟฟ้าให้กับ Leadon แต่นี้ก็เป็นเหตุการณ์ตั้งแต่ช่วงที่เขาทั้งคู่อยู่ในวัย ไม่ถึง 20 ปี Don Felder โปรดปรานดนตรี Rock, Rock and roll, Rhythm Blues เป็นอย่างมาก เช่น Elvis หรือ B.B. King เขาก็โปรดปราน, Felder เป็นคนหนึ่งที่เล่นกีต้าร์ไฟฟ้าได้อย่างยอดเยี่ยม เขาเองก็เคยมีโอกาสทำงานในแบบ Hard rock มาแล้ว Felder เป็นเสมือนเมล็ดพันธุ์ทางดนตรี rock ชั้นดีให้กับ The Eagles เขาทำให้วงเริ่มที่จะไปในทิศทางอีกทางเลือกหนึ่ง นั่นคือ Rock กับ Rock and roll บัดนี้ส่วนผสมของเคมีทางดนตรีมันเริ่มลงตัวแล้ว และมันก็เปลี่ยนไปจากเดิมแล้ว! The eagles ไม่ใช่วง country rock ไม่ใช่ดนตรีบลูแกรสอีกต่อไป! ในความเป็นจริง... Felder เป็นมากกว่า Rock เขาสามารถเล่นได้ทั้ง Rock, Rock and roll, และ Bluegrass เพราะเขาเล่นเครื่องสายได้หลายชนิด เช่น Banjo, Mandolin เป็นต้น บทบาทของ Felder เริ่มเด่นชัดมากขึ้น การยอมรับจากแฟนเพลงก็เช่นกัน ผู้คนล้วนแต่ประทับใจในการแสดงสดบนเวทีของเขา Felder เล่าว่า... ผมไม่เคยรีรอ หรือต้องขอเวลาในการตัดสินใจเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ The Eagles ผมว่าวงนี้เจ๋ง ผมมองมานานแล้ว ดังนั้น เมื่อมีจังหวะดีๆ ให้ผม ผมรีบกระโดดเข้าใส่ทันที
"One of These Night" Album ในปี 1975 ต่อเนื่องมาจาก 1974 พวกเขา (The Eagles) ไม่รีรอที่จะปล่อยโอกาสให้หลุดมือไป กระแสของ The Eagles กำลังมาแรง ในเดือนมิถุนายน 1975 The Eagles ออกผลงานอัลบัม "One of these night" (ซึ่งได้ปล่อยเพลง One of these night เป็น Single แรก) ผลงานเพลง One of these night ประสบความสำเร็จ สามารถขึ้นติดอันดับใน Chart-Billboard และหลังจากที่ออกแผ่นเต็มรวม 9 เพลง บทเพลงหลายๆ บทเพลงก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี หนึ่งในนั้นคือ Lyin' eyes ที่ทำให้ The Eagles ได้รับรางวัล Grammy awards (1975) Don Henley และ Glenn Frey ช่วยกันแต่งเพลง One on these night และ Lyin' eyes และก็เป็นเรื่องที่ไม่มีบ่อยๆ หนัก ที่เขาทั้งสองคน จะสามารถแต่งเพลงพร้อมๆ กันทั้งสองเพลงภายในบ่ายวันเดียวกัน Don Henley และ Glenn Frey ทุ่มเทอย่างหนักให้กับงานเพลงชุดนี้ เขาสองคนแทบเป็นเหมือนเงาของกันและกัน คือแทบไม่อยู่ห่างกัน ผลงานเพลง One on these night และ Lyin' eyes ทำให้นักวิจารณ์ หรือแม้แต่ผู้ฟังก็ตาม ต่างเอ่ยปากเป็นเสียงเดียวกันว่า "ทั้งคู่เป็นยอด นักแต่งเพลง ที่ดีที่สุดคู่หนึ่งยุคใน 70's" One of these night บอกเล่าถึงเรื่องราว สิ่งรอบข้างในชีวิตเรา สิ่งที่ล่อใจให้เราอาจจะหลงทาง สิ่งเย้ายวนทั้งหลาย ฯลฯ มันเป็นบทเพลงที่มีท่อน Intro หรือ Title Track และท่อน Solo กลาง ที่สุดจะเหนือชั้น มันสุดจะ Classic จริงๆ เสียงริธึม (Rhythm Guitar) ของ Don Felder มันยอดมาก และเสียงโซโล กีต้าร์ก็แสบทรวง! (ผมว่าแบบนั้นนะ!) แต่ก็ไม่ลืมที่จะยกย่องเสียงร้องนำของ Don Henley, เสียงประสาน และแม้กระทั่งเสียงกีต้าร์เบส ของ Meisner ทุกอย่างใน One of these night มันเป็นส่วนผสมที่ลงตัว, Don Felder บอกว่า "ผมพยายามที่จะเล่นริธึมกีต้าร์ ให้คล้ายกับเสียง ของการเป่า SAX เหมือนที่วงประเภท Fusion Jazz เล่นกัน" ด้วยความเหนือชั้นของ One of these night ในที่สุดก็สามารถ ไต่ขึ้นไปติดอยู่ใน Chart Billboard ในปี 1975 ได้สำเร็จ
Take it to the Limit เพลงนี้ทำให้ตำแหน่งของมือเบส ที่เหมือนจะคอยยืนอยู่แต่หลังเวที ได้เกิดสะที!? Randy Meisner กลายเป็นดาราคนใหม่ประจำวง บทเพลง Take it to the limit บอกเล่าถึงชีวิตที่เป็นชีวิตแบบสุดๆ คือน่าจะหมายถึง จะทำอะไรก็ทำไป มีชีวิตก็ใช้มันอย่างสุดๆ เพลงนี้ได้เสียงร้องประสานของ Don Henley และ Glenn Frey เข้ามาเติมเต็ม เพลงนี้เป็นเพลงที่ดีที่สุดเพลงหนึ่ง ที่อยู่ในอัลบัมนี้ Lyin' eyes บทเพลงสุด Classic ตลอดกาลของพวกเขา ในอัลบัม One of these night ทำให้ทิศทางของดนตรีในแบบ "Country rock" ของ The Eagles เริ่มจะหมดลง มันจางลงเรื่อยๆ แต่ก็โชคดีของผู้ฟัง ที่ได้มีโอกาสฟัง Lyin' eyes, มันแทบจะเป็นเพลง Country rock ชิ้นสุดท้ายจาก The Eagles บทเพลงนี้มีความยาวถึง 6 นาทีกว่า ซึ่งไม่ค่อยได้พบบ่อยๆ นักในยุค 70's แต่เวลาที่ได้ฟัง ผมกลับรู้สึกเหมือนว่า มันเป็นเพลงสั้นๆ ซึ่งไม่ต่างจากเพลง 3 นาทีกว่าๆ ทั่วๆ ไป มีคำบอกเล่าว่า Lyin' eyes แต่งมาจากสถานการณ์จริง ที่ได้เกิดในคลับดัง "Troubadour Club" Don และ Glenn แต่งเพลงนี้เพื่อหยอกล้อเพื่อนๆ ที่ทำตัวเจ้าชู้ ทำตัวเป็นวัวแก่หวังจะกินหญ้าอ่อนบนท้องทุ่ง "Troubadour Club" เป็นคลับดัง ในยุค 70's ที่เหล่าศิลปินไปรวมตัวกัน เพื่อร้อง/เล่นเพลงกัน ส่วนผู้ชายก็มักจะนั่งมองสาวๆ, กลุ่ม The Eagles ก็ทำเช่นนั้นเหมือนกัน Journey of the sorcerer, I wish a peace, และ Holly waltz แม้หลายๆ คนในวงจะไม่รู้สึกชอบกับการทำเพลงของ Leadon สักเท่าไร แต่เขาก็เก่ง ที่ผ่าน อุปสรรค์จากข้อแย้งของเพื่อนๆ โดยเพลงเหล่านี้ได้ถูกบรรจุในอัลบัม แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ในที่สุด บทเพลง Journey of the sorcerer ก็ได้ถูกนำไปเป็นเพลงประกอบหนัง, ที่บอกว่าหลายๆ คนรู้สึกแย้ง หรือไม่ชอบงานของ Leadon ผมคิดว่า สาเหตุใหญ่ๆ ก็คือ... ณ นาทีนั้น ทุกๆ คนในวง พยายามที่จะผลักดันให้ The Eagles กลายเป็น Rock and Roll อย่างเต็มตัว และสำหรับส่วนตัวผมเอง (ผู้เขียน) ผมชอบ Holly waltz นะ ผลงาน "One on these night" ได้รับเสียงกล่าวขานถึงอย่างมาก นักวิจารณ์ นักฟังเพลง ต่างให้การยกย่องว่า The Eagles คือวงดนตรีชั้นยอด, Neil Young (นักดนตรีแนว Country/Folk rock ที่มีชื่อเสียงมากในปลาย 60-70's) บอกว่า "The Eagles เริ่มกล้าที่จะนำเสนอเรื่องร้ายๆ, กล้าที่จะเขียนเพลงแบบนำเสนอด้านมืดของสังคม ด้านมืดที่ไม่ค่อยมีใครจะพูดถึงสักเท่าไร" หลายคนชอบพูดถึงแต่เรื่องรักน้ำเน่า
และแล้ววันแห่งการแตกหักก็มาถึง... หลังจากการออกตระเวนเล่นคอนเสิร์ตไปทั่วอเมริกา ตลอดระยะเวลาหลายเดือน ในที่สุดวันที่แตกหักของ The Eagles กับ Leadon ก็มาถึง!? วันหนึ่งที่ร้านอาหารในโรงแรม ระหว่างการกินอาหารเช้าในคอฟฟี่ช็อป บรรยากาศเริ่มค่อยๆ ตึงเครียด ไม่มีใครนึกถึง และคาดคิดไว้ว่า... Bernie Leadon จะของขึ้น ถึงขั้นยกแก้วเบียร์ราดลงบนหัวของ Glenn Frey แบบฟิวส์ขาดสุดๆ พอสาแก่ใจแล้ว Leadon ก็เดินออกไปจากที่นั้น โดยไม่สนใจสายตา หรือความคิดของใครๆ และแน่นอน... วันนั้นก็เป็นวันสุดท้ายของเขาที่มีโอกาสได้อยู่กับ The Eagles หลังจากนั้นไม่นาน ในช่วงปลายๆ ปี ตอนเดือนธันวาคม 1975 Leadon ตั้งวงใหม่ แล้วใช้ชื่อว่า The Bernie Leadon & Michael Georgiades Band มีสมาชิกรวม 5 คน หัวเรือใหญ่หรือแกนนำสำคัญก็คือ ตัวเขากับ Michael Georgiades, Solo album ที่ผมเคยได้สัมผัสก็คือ Natural Progressions album โดยมี Producer ฝีมือดีอย่าง Glyn Johns (โปรดิวเซอร์มือดีจากอังกฤษ) ซึ่งเคยช่วยกำกับงานของ The Eagles ในชุดแรกเมื่อปี 1972 (ในฐานะ Producer), Bernie Leadon รับหน้าที่ร้องนำในอัลบัมนี้ และที่สำคัญคือ เขาได้ใช้/ได้เล่นเครื่องสายต่างๆ นาๆ อย่างที่เขาต้องการ, Leadon รับหน้าที่เล่นร้องนำ เล่น Acoustic guitar, Mandolin, Banjo, Steel ส่วน Michael Georgiades ก็รับหน้าที่ร้องนำ และเล่น Guitar, ผลงานชุดนี้มีเพลงรวม 10 เพลง เพลงที่น่าสนใจก็คือ How can you live without love?, Callin' for your love, You're the signer?, The sparrow และ Glass off เป็นต้น มีหลากหลายทัศนะต่อความรู้สึกในการจากไปของ Bernie Leadon เพราะอย่างไรเขาก็เป็นหนึ่งในการสร้าง The Eagles และที่สำคัญคือ เขาเป็นคนที่มีฝีมือที่หลายๆ คนยอมรับ
ตอนที่อยู่ในระหว่างการทำงานในชุด One of these night ลากยาวไปถึงช่วงที่ทัวร์ มันมีความขัดแย้งกันตลอด Felder เคยบอกว่า เขาไม่แน่ใจ นักว่า เขาจะมีโอกาสได้ยืนอยู่เคียงข้าง The Eagles จนวันสุดท้ายหรือเปล่า?! เขามองเห็นความขัดแย้งต่างๆ นานๆ พวกเราทะเลาะ และมีปัญหากันมาก เรามีปัญหากับผู้จัดการวง (producer) เรามีปัญหากันเองระหว่างสมาชิก เราถกเถียงกันทุกๆ อย่าง ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ จนถึงเรื่องใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ใครเล่นกีต้าร์ดังไป ดนตรีเบาไป หนักไป ใช้คำพุดดูถูกกัน หยาบคายใส่กัน ดื่มกันมากไป นอนดึกไป วิวาทกันในร้านอาหาร แต่การทะเลาะกันบ้าง ก็เป็นเหมือนการปลดปล่อยจากแรงตึงเครียด มันก็มีส่วนช่วย เป็นเหมือนการต่ออายุให้กับ The Eagles, Bernie Leadon ดูจะอาการหนักกว่าเพื่อน เขาทะเลาะกับผม (Felder) จนเกือบจะชกหน้าผม แล้วเขาก็ยื่นอยู่คนละฝั่ง (ความคิด) กับ Glenn อย่างชัดเจน ผมรู้แล้วว่า วันหนึ่งไม่ช้าก็เร็ว "ไม่ Bernie Leadon หรือไม่ก็ผม (Felder)" หรือไม่ก็เราทุกๆ คน (The Eagles)จะต้องวงแตก!
- Glenn Frey บอกว่า เขารู้ว่า... ยังไงวันหนึ่ง Leadon ก็ต้องลาออกจากวง เพราะเขาไม่สนุกกับการที่ต้องทนในการทำงานที่ไม่ตรงกับที่เขา ต้องการ ดนตรี Rock ที่พวกเรากำลังจะไปสู่ในจุดนั้น มันดูไม่เหมาะกับ Leadon เอาสะเลย และเขาก็ไม่สนุกกับการตระเวนเล่นแบบไม่หยุดหย่อน - Don Henley บอกว่า Leadon ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับดนตรี rock เขาไม่ยอมรับดนตรี rock แต่พวกเรากำลังจะเดินหน้า แล้วเราก็ไม่ถอยหลังไปสู่ Country rock หรือบลูแกรสอีกแล้ว, เขาเครียดกับตัวเองมากเกินไป เขาไม่รู้จักใช้ยา (โคเคน) บริหาร เพื่อจะขจัดความเครียด - Bernie Leadon บอกว่า ผมทนไม่ได้กับการเปลี่ยนแปลงไปสู่จุดที่เรียกว่า Rock, Rock and roll หรือ Hard rock ก็ตาม ผมรัก Country ผมรักบลูแกรส ใครจะทำไม? ผมยอมที่จะทิ้งโอกาสทางการเงิน ในช่วงที่วงกำลังไปได้ดี! สำหรับผม ดวงจันทร์หรือพระอาทิตย์ก็ยังคงขึ้นลงเหมือนๆ เดิม ไวน์แก้วเล็กๆ กับผู้หญิงของผม แค่นี้ก็เพียงพอกับผมแล้ว คุณจะเอาอะไรหนักหนากับโลภยศ เงินทอง และชื่อเสียง Bernie Leadon ลาออกไป ปัญหาที่เป็นความอึดอัด ได้จางลงไปแล้ว มันค่อยๆ คลี่คลาย แต่ก็มีปัญหาตามมาว่า The Eagles จะหาใคร มาเล่นตำแหน่งเดิมของ Leadon แน่นอน Glenn Frey มองไปที่ Joe Walsh ทันที แต่ปัญหาใหญ่มันอาจจะอยู่ที่ แฟนๆ เพลงของ The Eagles จะสามารถรับ และปรับสภาพกับวงได้หรือไม่ เพราะภาพลักษณ์ของ The Eagles ที่มี Leadon อยู่บนเวที หรือบนหน้าปกเทป ภาพของดนตรี Country rock สำเนียง Banjo, Mandolin มันฝังอยู่ในความคิดของแฟนเพลงไปแล้ว
ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง (ครั้งใหญ่ของวง) Joe Walsh (โจ วอลซ์) ...พญาอินทรีตัวที่ 6 Joe Walsh เกิดเมื่อปี 20 พฤศจิกายน 1947 ที่เมือง Kansas แล้วไปเติบโต และใช้ชีวิตในมหานคร New York เขาเป็นคนที่ชอบเล่นดนตรี Rock มาก เขาชอบดนตรีในแบบ Jeff Beck, และ Eric Clapton เป็นต้น ซึ่งการพัฒนาการเล่นกีต้าร์ของเขา ก็มาจากการศึกษา Style การเล่นของบุคคลเหล่านี้ ในปี 1966 เขาได้มีโอกาสเข้าร่วมงานกับ James Gang และได้ออกอัลบัมในปี 1969 โดยได้เข้าเซ็นสัญญากับ ABC records, ในชีวิตของ Joe เคยผ่าน ทั้งงานแบบวงเต็ม และโซโลอัลบัมมาแล้ว เขาได้สร้างผลงานเพลง ที่ยอดเยี่ยมอย่างเช่น Take a look around, Rocky mountain way, Walk away และ Funk#48 ผลงานเหล่านี้ ได้ทำให้ตัวเขาเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น แต่ก็ในนามศิลปิน Rock ในกลุ่มแฟนเพลง Rock แต่ไม่ใช่ดนตรีแบบ country rock หากใครอยากจะรู้จักฝีมือการเล่นกีต้าร์ไฟฟ้าของ Joe ก็คงต้องไปหาเพลง Funk#48 มาฟัง ผมว่ามันชัดเจนมาก เพลงนี้น่าจะถือได้ว่า เป็นเครื่องหมาย หรือเป็นเอกลักษณ์ของ Joe, ทุกๆ วันนี้เวลาที่จะแสดงคอนเสิร์ต เขาก็ยังคงต้องเล่นเพลง Funk#48 และ Rocky mountain way เสมอๆ และสำหรับบทเพลงอย่าง Rocky mountain way ตัว Joe ก็ได้แสดงความสามารถในการเล่น Slide guitar ได้แบบยอดเยี่ยม ผสมผสาน เข้ากับการใช้เทคนิคของการนำเอาวิธีการเล่น Talk Box ในแบบที่ Jeff Beck ใช้ หรือที่เราเรียกๆ กันว่า กีต้าร์พูดได้นั่นล่ะครับ นอจากเขาจะมี ฝีมือในเรื่องการเล่นกีต้าร์ เขายังมีความสามารถในเรื่องของการเล่น Keyboard อีกด้วย, Joe ยังเคยชวน Glenn Frey และ Don Henley มาแจม ในการช่วยร้องประสาน ในอัลบัมเดี่ยวชุดที่สามในเพลง Help me thru the night
หลังจากที่ Joe ได้เข้ามาเป็นสมาชิกของ The Eagles อย่างเป็นทางการ หลายๆ คนยังสงสัยว่า แนว Hard rock แบบ Funk#48 หรือ Rocky mountain way จะเข้ากันกับ Lyin' eyes ได้อย่างไร นักฟัง และนักวิจารณ์ สื่อสารมวลชนแขนงดนตรีต่างรุมวิจารณ์ Joe ในแง่ลบ แต่ทว่า Joe และแม้กระทั่ง Glenn ต่างก็ให้สัมภาษณ์ว่า... ผมไม่แคร์ พวกเราไม่คิดว่า Lyin' eyes กับ Rocky mountain way จะไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้! Joe Walsh ใช้เวลาไม่นานมากหนักในการพิสูจน์ ในการทำให้แฟนๆ เดิมของ The Eagles ยอมรับในตัวเขา ในไม่ช้านักวิจารณ์ และแฟนรุ่นเก่า ของ The Eagles ก็ยอมรับว่า Glenn Frey เลือกคนไม่ผิด Felder... "ผมคิดว่า Joe เป็นนักกีต้าร์ที่น่าสนใจ เขามีลูกบ้า ผมไม่หนักใจที่จะต้องโซโลกับเขา เพราะก่อนหน้านี้ Joe ก็ได้เข้ามาแจมกับวง ในช่วงที่ ออกทัวร์อยู่แล้ว ผมไม่ต้องปรับอะไรมาก" Glenn... "พวกเราจำเป็นที่จะต้องมีมือกีต้าร์ฝีมือดีเพิ่มอีกหนึ่งคน ตอนนี้ผมไม่ต้องกังวลอะไร ผมเบาแรงลงไปเยอะ ต่อไปนี้ผมจะได้ใส่ใจ และมีสมาธิ กับการร้องให้มากขึ้น การที่ The Eagles ได้มือกีต้าร์ชั้นยอดอย่าง Joe และ Felder มาร่วมวงด้วย ผมว่าวงเราไปไกลแน่ๆ" Henley... "การลาออกของ Leadon ทำให้ความเป็นบลูแกรส ความเป็น country rock หมดไป เราจะได้ Rock กันสะที" ก่อนที่ Joe จะได้บันทึกเสียง/ ทำอัลบัมกับ The Eagles แบบเต็มตัว เขาได้ตระเวนทัวร์ไปตามสถานที่ต่างๆ เช่นใน Australia, ถือว่าเป็นการ อุ่นเครื่อง ก่อนที่จะเข้าสู่การทำงานร่วมกันอย่างจริงๆ จังๆ ใน studio ที่ในแอลเอ เพื่อทำอัลบัม Hotel California ผลพวงจากอัลบัม One of these night ทำให้คณะ The Eagles กลายเป็นวงดนตรีระดับชั้นแนวหน้า ทั้งชื่อเสียง และยอดขาย เงินทอง ยาเสพติด ผู้หญิง หลายๆ อย่างตามเข้ามา สมาชิกทุกๆ คนต่างก็มีความสุขกับรสชาติเหล่านั้น แต่ปัญหาต่างๆ ที่มาจาก "ตัวบุคคล" ก็ยังคงไม่จบ ภายหลังจาก Leadon ออกจากวงไป หลายๆ คนคิดว่าจะหมดปัญหาของความคัดแย้ง แต่ในความเป็นจริงแล้ว เรื่องของคน มุมมองที่ต่างกัน อีโก้ของแต่ละคนก็ยังมีอยู่ไม่น้อย, ช่วงที่ทำอัลบัม "Hotel California" ทั้ง Joe Walsh, Don Felder หรือแม้แต่ Randy Meisner ก็มานั่งนินทา Glenn Frey และ Don Henley เนื่องจากรู้สึกเบื่อหน่าย 2 คนนี้ เนื่องจากทั้ง Glenn และ Don ชอบยุ่ง และก้าวก่ายหน้าที่ตอนอยู่ใน Studio จนดูออกน่ารำคาญ แต่... ด้วยความเจ้าระเบียบ เผด็จการทำงาน การกุมอำนาจการตัดสินใจแบบเบ็ดเสร็จ ของ Don Henley และ Glenn Frey จึงส่งผลให้ อัลบัม Hotel California กลายเป็นอัลบัมที่ดีที่สุดของ The Eagles, Hotel California เป็นผลงานอัลบัม "ที่มียอดขายที่สูงที่สุด" ของพวกเขา
Hotel California ผลงานอัลบั้มอันสุดยอดและฮิตตลอดกาล! ผลงานอัลบัม "Hotel California" หากจะดูในลึกๆ ถึงการทำงาน จะเห็นได้ว่า ทั้ง Don และ Glenn ทำงานเป็นหลักใหญ่ และเพลงที่ได้รับการตอบรับ และประสบความสำเร็จ ก็จะมาจากการทำงานของ Don และ Glenn เช่นบทเพลง New kind in town, Life in the fast lane, Wasted time, The last Resort และแน่นอนว่า Hotel California บทเพลงที่เป็นสัญญาลักษณ์ของ The Eagles ตั้งแต่วันที่ออกอัลบัม กระทั่งถึงวันนี้ สัญญาลักษณ์ของ The Eagles ก็ยังคงเป็นบทเพลง Hotel California ไม่เคยเปลี่ยนแปลง Joe Walsh เริ่มรู้สึกว่า เขาเป็นสมาชิกของ The Eagles อย่างเต็มตัว บางท่อน และบางเพลงเขาเป็นคนลงมือคิดและทำ หลายๆ คน ต่างให้การยอมรับในตัวเขา พวกเขาได้เล่นเพลง Rock ชั้นดีอย่าง Life in the fast lane ซึ่ง Joe Walsh ได้แสดงมือการ Solo guitar ได้อย่างยอดเยี่ยมไร้ที่ติใดๆ หรือแม้แต่ Hotel California ที่เป็นเพลงชั้นดีของอัลบัมนี้ Joe และ Felder ก็ประสานกันได้อย่างลงตัว, Guitar Solo ท่อนขึ้นและท่อนจบ กลายเป็นบทเรียน และแบบฝึกของมือกีต้าร์รุ่นหลังๆ เพลงในอัลบัม : - Life in the fast lane ...บอกเรื่องราวของการใช้ชีวิตแบบเต็มที่ ฟังแล้วเหมือนคนที่ใช้ชีวิตอย่างขาดสติ เพลงบอก/โยงไปถึงเรื่องราวของยา (โคเคน) และคู่รักหนุ่มสาวที่เกี่ยวพันไปด้วย SEX มันเริ่มต้นด้วยความสวยงามในการใช้ชีวิตแบบนี้ แต่ท้ายที่สุด การใช้ชีวิตแบบ Life in the fast lane ก็เสื่อมถอยทีละน้อย Joe เป็นคนที่คิดลิกก์ท่อนหัว (intro) อารมณ์ของ Intro ที่โซโลออกมานั้น "มันร้อนแรง และจัดจ้านมากทีเดียว" Joe แบ่งลายโซโลกับ Felder ทั้งสองคนช่วยกันดูแลเรื่องกีต้าร์ ส่วน Don Henley ดูแลในส่วนของเนื้อหา และท่วงทำนอง หลังจากที่ทุกๆ อย่างเริ่มลงตัว Glenn Frey ก็นำมาขัดเกลาอีกรอบ บทเพลงนี้แสดงให้เห็นถึง Hard rock ขนานแท้ของ Joe และ Felder - New kind in town ...Joe แสดงฝีมือการเล่น Keyboard ได้อย่างเหนือชั้นไม่แพ้กับฝีมือการเล่นกีต้าร์ของเขา บทเพลงนี้ นับเป็นอีกหนึ่ง บทเพลงหนึ่ง ที่ดีที่สุดของ The Eagles - Hotel California ...ได้กำเนิดมาจากบุคคล 3 คน นั่นคือ Don Felder, Glenn Frey และ Don Henley วันหนึ่งในบ้านพักริมทะเล ประมาณปลายปี 1974 Don Felder หยิบกีต้าร์โปร่ง 12 สายขึ้นมา แล้วเดินด้วยคอร์ดง่ายๆ ใน Key E minorแต่มันก็ทำให้ตัวเขาเอง สะดุดได้ Felder จึงลงมืออัดไว้ในเทป 4 track, Felder ลงมืออัดลายกีต้าร์ไฟฟ้าซ้ำลงไปเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น หลังจากนั้น เขาก็ส่งเพลงนี้ไปให้กับ Glenn Frey ทั้ง Glenn และ Henley ได้ฟังก็ชอบใจ รีบโทรฯ หา Felder แล้วบอกว่า จะเอาเพลงนี้มาทำลงใน Project ต่อไป
Glenn และ Henley ช่วยการคิดแนวทาง (Concept) ของเพลงนี้ เขาทั้งสองเริ่มคิดว่าจะเขียนเนื้อหาอะไรลงไป, Glenn เคยบอกว่า ในครั้งแรกนั้น เขาไม่คิดว่าจะนำเพลงนี้มาเป็น Concept Album และไม่คิดว่าจะนำเอามาเป็นชื่อ Album แต่ไปๆ มาๆ เขาก็คิดว่า มันเป็นสิ่งที่เหมาะสมที่สุด ที่เราต้องทำ, Concept ของงานเพลงชุดนี้ ก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องสังคม ภาพลวงตา ยาเสพติด ผู้หญิง วัตถุนิยม สภาพเสื่อมโทรมของสังคม สิ่งต่างๆ ที่เป็นเสมือนกับดัก ที่อาจนำพาเราไปสู่ฝันร้าย Glenn Frey เล่าว่า ภาพของโรงแรม Beverly Hill (เบฟเวอรี่ ฮิลล์) บนหน้าปกเทปอัลบัม Hotel California เป็นตัวแทนความเจริญ ความหรูหรา สิ่งที่ยั่วยวนใจของสิงนักเสพในยามราตรี แต่ขณะ เดียวกัน มันก็มีความเสื่อมโทรมแฝงอยู่มากมาย เนื้อหาของบทเพลง Hotel California สามารถเข้าใจได้ยาก ตีความก็ยาก เพราะสามารถสื่อความหมายได้หลากหลาย และดูเหมือนว่า Gelnn และ Henley จะพยายามใส่เรื่องราวต่างๆ นาๆ ลงไป มากมาย จนทำให้ไม่สามารถแปลออกมาให้เป็นแบบนิยายรักน้ำเน่า (เล่มละ 1 บาทในสมัยผมเด็กๆ) ที่อ่านรอบเดียวแล้วเข้าใจทั้งหมด เนื้อหาของเพลงมีทั้งการประชดประชัน/การเสียดสีต่อสังคม และผู้หญิง ฯลฯ บางประโยคหาศัพท์แปลไม่ได้ หรืออาจจะเป็นแสลงที่เข้าใจได้ยาก ประโยคสุดท้ายที่บอกว่า You can check out any time you like But, you can never leave ฟังดูเหมือนจะกล่าวสรุปว่า "คุณจะออกจากโรงแรมแห่งนี้เมื่อไรก็ได้ แต่คุณจะไม่มีวันทำแบบนั้น" สำหรับผมกลับคิดว่า Glenn และ Henley พยายามจะบอก และพูดโยงถึงสิ่งยั่วยวน เช่น ยาเสพติด เงินทอง ผู้หญิง กิเลสตัณหา อบายมุขที่อยู่รอบๆ ตัวมากกว่า ดังนั้น... ประโยคนี้อาจจะสื่อได้ว่า... "ต่อให้คุณอยากจะละทิ้งสิ่งเย้ายวน กิเลสตัณหา อบายมุขเหล่านี้แค่ไหน คุณก็ไม่มีวันที่จะละทิ้งมันไปได้" ที่ผมคิดแบบนี้ก็เพราะว่า สิ่งที่เรียกว่าอบายมุข ฯลฯ มันเป็นของคู่กันกับคนยุค 60-70's มันเหมือนเป็นเครื่องประดับชิ้นเอก ที่คุณไม่อยากจะถอดออก แม้แต่ในยามที่คุณจะนอนแล้วก็ตาม...!? นอกจากนั้นยังมีอีกหลายๆ ประโยค ที่สามารถตีความ หรือแปลได้ไปต่างๆ นาๆ ผมขอสรุปว่า "Hotel California เป็นเหมือนตัวแทนในยุค 70's ที่บอกเล่าถึงเรื่องราวในยุคทองที่รุ่งโรจน์ และยุคเสื่อมทรามที่ตกต่ำ... ในเวลาเดียวกัน"
Don Felder และ Joe Walsh ได้แสดงฝีมือชั้นเซียนออกมาอย่างหมดเปลือกในบทเพลงนี้ ไม่ว่าจะเป็นท่อนผสมผสานของท่อน Intro และท่อน Solo ในตอนจบของเพลง มันคือ ผลงาน Rock ชั้นยอด ที่สามารถไปยืนเคียงข้างเพลง Stairway to heaven ของ Led Zeppelin หรือ Bohemain Rhasody ของวง Queen ได้อย่างไม่ต้องเขินอาย - Try and love again กลายเป็นผลงานเพลงสุดท้ายของการอยู่ร่วมวง ระหว่าง "Randy Meisner กับ The Eagles!" เขามีปัญหากับ Glenn โดยมันสะสมมานาน จนในที่สุดก็ถึงขั้นแตกหัก ไม่ว่าจะอย่างไร Meisner ก็ฝากผลงานเพลง Try and love again ไว้อย่างงดงาม (เพลงนี้เป็น เพลงหนึ่งที่ผมคิดว่า "มันเจ๋ง" เช่นกัน ผมว่ามันเยี่ยมไม่แพ้กับ Take to the limit, Is it true? จริงๆ นะครับ) Randy Meisner เป็นมือเบส และเป็น คนที่ร้องประสาน (สูง) ที่ยอดมาก ในสายตาของสมาชิกทุกๆ คน แต่ในที่สุด การจากลา และการเปลี่ยนแปลงของ The Eagles ก็มาถึงอีกครั้ง หลังจากเดินออกจาก The Eagles ได้ไม่นาน Randy Meisner ก็ทำงาน Solo album ออกมาประมาณ 3-4 ชุด ผลงานอัลบัม Hotel California ออกวางจำหน่ายในปี 1976 รวม 9 Tracks และมีเพลงมากกว่าครึ่ง ที่นักวิจารณ์/นักฟังต่างพากันยกนิ้วให้ หลายคนต่างพากันยกย่องว่า ผลงานเพลงชุดนี้ เป็นผลงานเพลงที่ยอดเยี่ยมที่สุดของ The Eagles
ในปี 1977 ในงานประกาศรางวัล Grammy Award, อัลบัม Hotel California ได้ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลในหลายสาขา สรุปได้มา 2 สาขา นั่นคือ 1. Record of the Year ในเพลง Hotel California 2. Best Arrangement for Voices ในเพลง New Kid in Town หลายๆ สำนักข่าว ต่างก็วิจารณ์ว่า หาก The Eagles ไม่ได้ออกอัลบัมในปีนี้ พวกเขาต้องฟาดไปไม่ต่ำกว่า 4 รางวัล เพราะในปี 1977 ที่มีการแข่งขันนี้ ล้วนแล้วแต่มีเพลง และอัลบัมเพลงจากศิลปินที่แข็งๆ ล้วนมีคุณภาพสูงๆ ทั้งนั้น เรื่องราวของ The Eagles ยังไม่จบเพียงเท่านี้นะครับ คราวหน้าจะมาเล่าต่อว่า มีอะไรยุ่งๆ เกิดขึ้นบ้างกับผลงาน Album - The Long Run รวมถึงการเข้ามาของ Timothy B. Schmit และผลงาน Album - Hell Freezes Over ที่โด่งดังไปทั่วโลก, The Eagles ปลุกผี!! ใน Hotel California (Acoustic version) ขึ้นมาอีกครั้งได้อย่างไร?
Don Felder และ Joe Walsh ได้แสดงฝีมือชั้นเซียนออกมาอย่างหมดเปลือก ในบทเพลงนี้ ไม่ว่าจะเป็นท่อนผสมผสานของท่อน Intro และท่อน Solo ในตอนจบของเพลง มันคือ ผลงาน Rock ชั้นยอด ที่สามารถไปยืนเคียงข้างเพลง Stairway to heaven ของ Led Zeppelin หรือ Bohemain Rhasody ของวง Queen ได้อย่างไม่ต้องเขินอาย ผลงานอัลบัม Hotel California ออกวางจำหน่ายในปี 1976 รวม 9 Tracks และมีเพลงมากกว่าครึ่ง ที่นักวิจารณ์/นักฟังต่างพากันยกนิ้วให้ หลายคนต่างพากันยกย่องว่า ผลงานเพลงชุดนี้ เป็นผลงานเพลงที่ยอดเยี่ยมที่สุดของ The Eagles ในปี 1977 ในงานประกาศรางวัล Grammy Award, อัลบัม Hotel California ได้ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลในหลายสาขา สรุปได้มา 2 สาขา นั่นคือ 1. Record of the Year ในเพลง Hotel California 2. Best Arrangement for Voices ในเพลง New Kid in Town หลายๆ สำนักข่าว ต่างก็วิจารณ์ว่า หาก The Eagles ไม่ได้ออกอัลบัมในปีนี้ พวกเขาต้องฟาดไปไม่ต่ำกว่า 4 รางวัล เพราะในปี 1977 ที่มีการแข่งขันนี้ ล้วนแล้วแต่มีเพลง และอัลบัมเพลงจากศิลปินที่แข็งๆ ล้วนมีคุณภาพสูงๆ ทั้งนั้น
Timothy B. Schmit (ทิโมธี่ บี. ชมิตต์) ชายร่างผอมบาง สูงยาว น้ำเสียงสูงในแบบแหบจางๆ พญาอินทรีตัวสุดท้ายของคณะ The Eagles, Timothy B. Schmit เกิดเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2490 ชีวิตของเขาดูน่าสนใจไม่แพ้กับเพื่อนคนอื่นๆ ในวง ก่อนร่วมงานกับ The Eagles เขารับหน้าที่เป็นมือเบส และร้อง Back up ให้กับ Poco ซึ่งว่าไปแล้ว ตัวเขาถือกำเนิดมาจากคณะ Poco และขณะเดียวกัน เขาก็ใช้เวลาอยู่กับ Poco ได้ไม่นานนัก คณะ Poco ก็วงแตก! และก็เช่นกัน เมื่อเขาได้เข้าไปอยู่กับ The Eagles ไม่นานนัก นั้นคือ เพียง 1 อัลบัม คณะ The Eagles ก็วงแตก! เช่นกัน หลังจากที่ Poco วงแตกได้สักระยะ ก็มีข่าวจากเพื่อนสนิทของเขาคนหนึ่ง (J.D. Souther) Timothy B. Schmit ได้ข่าวว่า คณะ The Eagles กำลังมองหาสมาชิกใหม่ในตำแหน่ง Guitar Bass Timothy ได้มีโอกาสเข้าร่มตระเวนทัวร์ดนตรีกับ The Eagles อยู่พักใหญ่ ทุกๆ คนในวงต่างเห็นด้วยว่า คนนี้จะมาเติมในจุดที่ขาดหายไปได้ ต้องเป็น Timothy เท่านั้น Don Felder ให้ความเห็นว่า Timothy เล่นเบสได้เยี่ยมยอด และยังสามารถร้องเสียงสูงได้เหมือนกับ Randy Meisner ผลงานเพลงชุด "The Long Run" เริ่มลงมืออัดเสียงเมื่อปี 1978 และจำหน่ายในปี 1979 มีคำกล่าวว่าอัลบัม The long run นี้ เป็นอัลบัมที่ล่าช้า ที่สุดเท่าที่คณะ The Eagles เคยทำมา ปกติแล้วผลงานอัลบัมของ The Eagles จะออกแบบปีต่อปี แต่หลังจาก Hotel California Album ในปี 1976 ก็ลากยาว/ เว้นวรรคมาถึงปี 1979 เหตุการณ์นี้ทำเอาสังกัด Elektra ไม่สู้จะพอใจนัก แต่ก็ต้องอดทน เพราะรู้ว่าคณะ The Eagles สามารถทำเงินให้กับเขาได้มาก Bill Szymczyk ยังคงรับหน้าที่เป็น Producer ให้กับ The Eagles ซึ่งเป็นงานที่หนัก เนื่องจากผลงานจากชุดที่แล้ว (Hotel California) ได้ค้ำคอ เขาอยู่ เขาใช้ความพยายามมากทีเดียว เพื่อจะหาวิธีการที่จะทำให้ผลงานอัลบัม The long run ไม่ขายหน้า Hotel California แต่ดูเหมือนว่า มันจะไม่ใช่เรื่องง่ายสะแล้ว!
The Eagles ในยุค "The long run" ไม่สามารถประสบความสำเร็จได้อย่างที่ทุกๆ คนคาดหวัง นั้นอาจจะเพราะว่า พวกเขาได้ทำผลงานชุด Hotel Califonia ไว้ดีเกินไป นักวิจารณ์ต่างพากันติแบบเสียหาย ส่วนตัวผมเองก็ไม่ประทับใจกับอัลบัม The long run สักเท่าไร เหตุผลเพราะว่าผลงานอัลบัม The Long run นี้ ไม่มีเพลงที่สามารถเทียบชั้นได้อย่าง New Kid In Town, Lyin' Eyes, One of These Nights, Saturday Night และอีกหลายๆ เพลง ที่พวกเขาเคยทำได้. The long run แทบไม่มีกลิ่นไอของบทเพลงในแบบฉบับ The Eagles เดิมๆ ให้หลงเหลือ บทเพลงอย่าง The long run ไม่สามารถเทียบชั้นได้กับ Hotel California เลยแม้แต่น้อย แม้ว่าจะมีเพลงอย่าง I can't tell you why มากู้หน้า หรือแม้ว่าเพลงอย่าง The long run หรือแม้แต่เพลงอย่าง Heartche tonight ก็ตามเถอะ! ...ไม่ใช่มันฟังไม่ได้ แต่... มันแค่พอใช้ได้ครับ มันก็ยังไม่ดีพอที่จะสามารถเทียบชั้นกับผลงานเดิมๆ ที่พวกเขาเคยทำมาได้ The Eagles ออกตระเวนทัวร์ในอเมริกา ตามเมืองต่างๆ ตลอดปีแบบไม่หยุดพัก กระทั่งมาเป็นฟางสั้นสุดท้ายเมื่อกลางๆ ปี 1980 จุดเริ่มต้น ของความชัดเจนว่าวงจะแตก มันมาจาก Don Felder และ Glenn Frey ซึ่งทั้งสองทนเก็บกดกันมานาน ในที่สุดมันก็มาถึงจุดแตกหัก Don Henley ในฐานะหัวหอกผู้สร้าง The Eagles (มาพร้อมๆ กับ Glenn) สู้จะไม่พอใจ (ในครั้งแรกๆ) ที่ Glenn ตัดสินใจยุติบทบาทตัวเอง โดยการบอกยุบ The Eagles, Don รู้ดีว่า หากไม่มี Glenn สะคน The Eagles จะไปรอดได้อย่างไร, แม้ Don Henley จะมีบทบาทไม่น้อย แต่เขาก็ต้องการคู่หูอย่าง Glenn Frey Don Henley เริ่มเข้าใจตัว Glenn Frey มากขึ้น มันอาจจะถึงจุดจบ และถึงเวลาแล้ว ที่เราจะทางใครทางมัน เราทำงานกับ The Eagles มานาน เกินไป โดยเฉพาะ Glenn. นานแล้วที่เขาต้องรับหน้าที่ของผู้ประสานงาน วางแผนงาน เอาใจคนอื่น ฯลฯ หลังจากวงแตกในปี 1980 ต่อมาอีกราวๆ 2-3 ปี สมาชิกแต่ละคนก็ออกอัลบัมเดี่ยว ตามรูปแบบของตัวเอง ที่คิดว่าจะเอาตัวรอดในวงการดนตรีได้
Don Henley น่าจะเป็นคนที่ประสบความสำเร็จกับผลงานเดี่ยวมากที่สุด งานอัลบัมชุดที่ 3 : The end of Innocence ประสบความสำเร็จมากที่สุด โดยได้รับรางวัล Grammy ในสาขา Best rock และ Vocal Performance. ส่วนตัวของผม ผมชอบงานอัลบัม I can't stand still โดยเฉพาะเพลง Johnny Can't Red ผมว่าเด็ดมาก Joe Walsh หันไปทำงานด้าน Soundtrack, และมีงานเก่าๆ จาก James Gang ที่ยังพอประครองตัวได้ Glenn Frey ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง บทเพลงอย่าง The one you love, Lover's moon, และ Found somebody ทำให้เขาผ่านงานเดี่ยวไปได้ (ชนิดไม่ขายหน้าใคร) Timothy B. Schmit น่าเห็นใจที่สุด เพราะกอบโกยเงินจาก The Eagles ไปได้แค่ช่วงเวลาเดียว The Eagles ก็ดันวงแตก Timothy ออกอัลบัมเดี่ยว และมีงานเพลง Soundtrack เข้ามาเป็นระยะๆ ที่ผมชอบก็คือเพลง So much in love ผมว่าเพลงนี้แจ๋วครับ Don Felder ออกอัลบัม Heavy Rock ชื่อชุด Airborne ก็ประสบความสำเร็จในขั้นหนึ่ง แต่ก็ไม่มากมายอะไร Bernie Leadon จับงานที่เป็น Bluesgrass แจมกับหลายๆ วง. ผมได้มีโอกาสหาซื้อไว้ได้ 1 ชุด คือที่ทำกับ Michael Georgiades ในอัลบัม Natural Progressions Randy Meisner ออกผลงานมาราวๆ 3 ชุด ส่วนตัวของผมยังไม่เคยมีโอกาสได้ฟัง แต่เท่าที่ตามข่าวสาร ก็ดูเหมือนว่าเขาจะไม่ประสบความสำเร็จมากเท่าไร และหากเทียบกับสมาชิกคนอื่นๆ เขาอาจจะอยู่ในลำดับท้ายๆ ของงาน solo album
Joe Walsh, Timothy B. Schmit, Don Henley, Glenn Frey, Don Felder, "Hell Freezes Over" album ย้อนกลับไปปี 1994 สำหรับแฟนเพลง The Eagles คงไม่มีใครที่จะพลาดอัลบัมแสดงสดที่ใช้ชื่อว่า "Hell Freezes Over" งานนี้ต้องยกเครดิต ให้กับ Don Henley ที่ทำตัวเป็นผู้ประสาน ให้เกิด The Eagles Reunion ขึ้นมา ปี 1980-1994 นับไปแล้วก็ 14 ปี ที่เราไม่มีโอกาสได้เห็น The Eagles ขึ้นเวทีแสดงร่วมกัน นับเป็นภาพที่ทำให้เรายิ้มแบบไม่หุบปาก และมันก็เป็นภาพที่น่าประทับใจอย่างเหลือเชื่อ เหลือเชื่อว่า มันเกิดขึ้นได้อย่างไร? Hell Freezes Over มีเพลงใหม่อยู่ในการแสดงสดในครั้งนี้จำนวน 4 เพลง นั้นคือ "Love will keep us alive" เพลงรักหวานหยด ทำเอา Timothy เข้าตาสาวๆ ก็คราวนี้ "The Girl from yesterday" ดูเหมาะ และเป็นแนวเพลงที่ Glenn Grey ทำได้ดีตลอดมา "Lean to be still" เพลงนี้ฟังดูมีมนต์ขลังดี, Don Henley ยังคงร้องเพลงได้อย่างถึงใจไม่เปลี่ยน และ Get over it, ดูเหมือนว่าบทเพลงนี้ จะมีเจตนาสื่อให้เห็นว่า ทุกๆ อย่างมันจบลงแล้ว (โคตรอึดอัดกับการทำงาน) จะหมายความถึงการทำงานร่วมกันของ The Eagles หรือ ไม่นั้น ก็ต้องลองฟังดูครับ ที่ชอบและโดดเด่นมากๆ ของเพลงนี้ก็คงจะหนีไม่พ้นน้ำเสียง และท่วงท่าในการ solo กีต้าร์ของ Joe Walsh และ Don Felder มันแจ๋วมากๆ เลยครับ รูปแบบของ The Eagles กับ Hell Freezes Over จะมุ่งตามกระแสอยู่ไม่น้อย นั้นคือกระแสของ Unplugged และมันก็ได้ผล นั้นคือไม่ว่าคุณ จะเป็นคอเพลงยุค 70's หรือจะเป็นคอเพลงของ The Eagles หรือไม่ มันไม่สำคัญอีกต่อไปแล้ว เพราะคุณจะจำภาพ และสำเนียงท่อนขึ้น (intro) ของเพลง Hotel California ได้โดยอัตโนมัติ ผมจำได้ว่าปี 1994 ทุกๆ ร้านขายแผ่น หรือร้านขายเครื่องเล่น แทบไม่มีร้านไหน ที่จะไม่เอาแผ่นการแสดงสดชุด Hell Freezes Over นี้มาเปิด
Timothy B. Schmit, Glenn Frey, Don Felder, Don Henley, Joe Walsh "Hell Freezes Over" ได้กลายเป็นสูตร และส่วนผสมใหม่ของดนตรีสากลในปี 1994 แม้กระทั่งถึงวันนี้ ผมก็ยังคงเชื่อมั่นว่า... บันทึกการแสดงสด Hell Freezes Over ก็ยังคงเป็นภาพประทับใจขอบรรดาสาวกเก่าและใหม่ ของ The Eagles อย่างไม่เคยเบื่อหน่าย...the end.
เขียน และเรียบเรียงโดย ทีมงานอะคูสติกไทย (www.acousticthai.net)