Saddle Guitar อะไหล่ชิ้นเล็กๆ ที่คุณมองข้ามมัน มาตลอด
ความสามารถของ อะไหล่ชิ้นเล็กๆ นี้
ไม่ใช่แค่วาง…เพื่อให้สายกีตาร์พาดผ่านมันไปเท่านั้น
แต่ยังช่วยเรื่อง ความนิ่งของเสียง โดยเฉพาะ “หางเสียง”
หรือ Sustain ที่ช่วยให้เกิดความยาวต่อเนื่อง
และยังรักษาความสมดุลย์ หรือ บาลานซ์(Balance) อีกด้วย
Saddle Guitar ส่วนประกอบชิ้นเล็กๆ ของกีต้าร์โปร่ง ที่มีสิ่งลี้ลับ อยู่ข้างใน ซึ่งคุณอาจจะไม่รู้ ! ผู้เขียนเชื่อว่า สำหรับคนที่เพิ่งเข้ามาสนใจ ศึกษาเรื่องกีต้าร์โปร่ง อาจจะต้องมีคำถามมากมายหลายข้อ หนึ่งในนั้นคือ เรื่องของ "Saddle" หลายคนสงสัย ทำไมหน้าตาของมันไม่เหมือนกัน และยังมี Saddle ที่ทำจากวัสดุที่แตกต่างกันอีก แล้วแบบไหนมันจะดีที่สุด ผมควรเลือกใช้แบบไหนดี? ผู้เขียนจนถือโอกาสนี้ เขียนถึงเรื่อง Saddle Guitar เพื่อหวังว่าจะมีประโยชน์ กับหลายๆ ท่าน ที่ไม่เคยรู้มาก่อน เริ่มกันเลย.... ในที่นี่ ผู้เขียนขอแบ่งเป็น 2 เรื่อง คือ... 1) วัสดุ ที่ใช้ทำ Saddle Guitar 2) ประเภทของ Saddle Guitar เรามาดูในส่วนของ "วัสดุ" ที่ใช้ทำ saddle guitar กันก่อน ครับ
1.1) กลุ่มของ Bone เช่น Ivory เป็นต้น ลักษณะของ Saddle ประเภทนี้ จะเป็นดูเหมือนกระดูกเลยครับ เพราะมันคือกระดูกสัตว์ นั่นเอง หากย้อนกลับไปร้อยกว่าปีก่อนหน้านี้ หรือหากคิดว่าร้อยกว่าปี มันไกลไป ก็เอาสักเกือบร้อยปี ก็ได้ ผู้ผลิตกีต้าร์ รุ่นบุกเบิกอย่าง Martin (Martin Guitar) นิยมที่จะใช้วัสดุประเภท กระดูกสัตว์ มาใช้ทำกีต้าร์ เพราะหาได้ง่าย ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ Ivory สะทั้งหมดครับ ถามว่า Ivory คือส่วนไหนของกระดูกสัตว์ คำตอบคือ "งา" ของช้าง นอกจาก Ivory(งาช้าง) จากถูกนำมาใช้ทำ Saddle แล้ว ยังถูกนำมาใช้ทำในส่วนของ Bridge อีกด้วย ซึ่งในยุคสมัยนั้น จะรู้จักกันดีในนาม Pyramid Ivory bridge เอกลักษ์นี้ ถือเป็นหนึ่งในการออกแบบของกีต้าร์ยุคโบราณ สังเกตจะเห็นว่า บริเวณส่วนปีกทั้งสองข้างของ Bridge จะถูกออกแบบดูคล้ายเป็นรูป ปิรามิด (Pyramid) (ภาพด้านล่าง)
ในยุคนั้น การจะล้มช้างสักตัว อาจจะไม่ใช่เรื่องใหญ่โต งาช้างจึงเป็นที่นิยมในกลุ่มนักออกแบบฟอนิเจอร์ ในที่นี่ พวกช่างทำกีต้าร์ ก็ชมชอบกันวัสดุประเภทนี้ เพราะนอกจากทั้งสองส่วนที่ว่ามา (saddle & bridge) ...งาช้าง ยังถูกใช้เป็นส่วนประกอบในส่วนของ nut, binding, tuner (buttons), pin, end pin ฯลฯ Saddle ประเภทที่ทำมจาก Ivory ผู้เขียนเคยมีโอกาสได้ลองเล่นกีต้าร์ Martin ยุค Prewar และรวมทั้งได้เคยอ่านบทวิจารณ์ของกูรูต่างประเทศมากมาย ซึ่งส่วนใหญ่ จะพูดไปในทางเดียวกันว่า จะให้หางเสียงที่ยาวกว่าวัสดุประเภทอื่นๆ รวมถึงให้ย่านเสียงสูงที่ดี และ balance ของสายกีต้าร์ ได้อย่างยอดเยี่ยม ซึ่งทั้งหมด เป็นแค่การวิจารณ์ไปตามอารมณ์ความรู้สึกของผู้เล่นแต่ละคน เท่านั้น หากท่านใส่ และชอบ มันก็จบ แต่จะใส่ saddle อะไรก็ตาม และท่านรู้สึกไม่ชอบ มันก็ต้องเปลี่ยนไปเรือยๆ หากจนกว่าท่านจะพอใจ แต่บอกไว้ก่อนว่า Ivory saddle หาได้ยาก และราคาสูง (แบ่งตามเกรดและยี่ห้อ) ผู้เขียนเองก็ไม่สนับสนุน เพราะปัจจุบัน มีผู้ผลิตหลายๆ ราย ได้คิดค้นวัสดุประเภทอื่นมาทดแทน ซึ่งให้เสียง/คุณสมบัติ ที่ใกล้เคียง Ivory ได้แล้ว และ หากต้องการ saddle ที่ทำจากกระดูกสัตว์จริงๆ ปัจจุบันผู้ผลิตก็นิยมใช้ กระดูกจำพวกสัตว์อื่นๆ มาให้ทดแทนงาช้าง เช่น กระดูกควาย(เขาควาย) เป็นต้น ซึ่งกีต้าร์หลายๆ ยี่ห้อในปัจจุบันที่แสดง spec ไว้ว่า Bone ผมคิดว่ามั่นใจไว้ก่อนเลยว่า... ต้องเป็นพวก กระดูกควาย เนี่ยล่ะ ชิ้นไม่กี่ร้อยบาท (100-300 บาท)
1.2) กลุ่มของวัสดุสังเคราะห์ เช่น Tusq, Micarta ฯลฯ เป็นต้น เมื่อกระดูกสัตว์หายาก และมีต้นทุนสูง ผู้ผลิตจำเป็นต้องหาวัสดุประเภทอื่นๆ มาทดแทน หากผู้เล่นมีประสบการณ์ฟังไม่มาก เมื่อเทียบกับพวกกระดูก อาจจะฟังไม่ออก แต่สำหรับผู้มีประสบการณ์จะฟังออกอย่างแน่นอน
เอกลักษณ์ของเสียงคือ Tusq, Micarta จะได้เสียงที่นุ่มนวลกว่าพวก Saddle กระดูก (กระดูกจะคมกว่า หางเสียงยาวกว่า และชัดกว่า)
ราคาโดยเทียบกับกระดูกควาย กลุ่ม Tusq, Micarta จะมีราคาสูงกว่า เฉลี่ยราคาอยู่ที่ 300-800 บาท ขึ้นอยู่กับยี่ห้อ/คุณภาพ
1.3) กลุ่มของไม้ (Wood) Saddle ประเภทนี้ มักจะใช้ไม้ indian rosewood หรือไม่ก็ Ebony เพราะมีความแข็งแรงมาก แม้ saddle ประเภทนี้ จะมีให้เห็นอยู่บ้าง แต่ไม่นิยมมากนักในกลุ่มกีต้าร์สายเหล็ก จำพวก flat top แต่จะนิยมในกลุ่ม Archtop Guitar (Jazz Guitar) ผู้เขียนได้คุยกับผู้ชำนาญการเรื่อง Archtop Guitar เล่าให้ฟังว่า... Archtop Guitar จะมี Tail Piece สำหรับร้อยยึดสายที่ปลาย body กีต้าร์ วัสดุจำพวกโลหะที่ใช้ทำ Tail Piece นั้น มีผลต่อหางเสียง(sustain) คือให้หางเสียงค่อนข้างไปทางแหลม ดังนั้น ผู้ผลิตบางราย ที่ต้องการลดหางเสียงแหลมลง ก็มักจะใช้ไม้มาทำ saddle
1.4) กลุ่มพลาสติก (Plastic) จริงๆ มันก็คงจะมีหลายเกรด แต่อย่างไรก็ตาม มันก็ไม่มีทางที่จะเหนือไปกว่า saddle กลุ่มข้างต้น แน่นอน วิธีการดูว่า เกรดมันเป็นอย่างไร หรือ saddle ที่ทำจากพลาสติก เป็นอย่างไร ง่ายๆ คือ น้ำหนักมันจะเบาหวิว... เวลาโยนลงพื้นแข็งๆ เสียงมันจะกระป๋องๆ (ไม่มีน้ำมีนวล ไร้น้ำหนัก) saddle ประเภทนี้ ชิ้นหนึ่งราคาไม่กี่สิบบาท (เหมือนก่อนอาจจะชิ้นละ 100 กว่าบาท!) และความทนทานไม่เท่ากับ saddle จำพวกกระดูก ใช้ไปนานๆ มันจะมีร่องในจุดที่สายกีต้าร์วางพาด
เมื่อรู้จักวัสดุบางประเภท ที่นิยมใช้ทำ Saddle แล้ว คราวนี้... เรามาดู "ประเภทของ saddle" ในที่นี่ ผู้เขียนขอแบ่ง เป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ซึ่งเป็นที่นิยม
(1) standard saddle หรือ non-compensated (2) compensated saddle หรือ split saddle (3) และ Long Saddle Saddle ทั้งสามประเภทข้างต้น ล้วนมีเอกลักษณ์ ที่แตกต่างกันออกไป กีต้าร์โปร่งทั่วไป คิดเป็นประมาณ ร้อยละ 90% ในท้องตลาดที่จำหน่ายส่วนใหญ่ จะเป็นแบบแรก คือ "Standard Saddle" หรือ non-compensated
"Standard Saddle" หรือ non-compensated
ลักษณะจะโค้งมนๆ เล็กน้อย และที่สำคัญ คือ วิธีการวาง ที่จะเอียงองศาเล็กน้อย ไม่ตรงสะทีเดียว คงไม่เคยมีใครเห็น saddle วางแบบตรงๆๆๆๆ ใช่ไหม ครับ? ซึ่งการทำเช่นนี้ ก็มีเหตผล...
การวางเอียงๆ ก็เพื่อช่วยลดค่า(เฉลี่ย)ความเพี้ยน ทีเกิดจากเเรงดึงของสายกีต้าร์ และอันเกิดจาก ความยึดหยุ่นของขนาดสายกีต้าร์ ที่ไม่เท่ากัน, และยังรวมไปถึง ระยะความสูงของ Action อีกทีมีผล สิ่งเหล่านี้ทั้งหมด ล้วนสามารถทำให้ Intonation (ความสูงต่ำของเสียง) เกิดการเพี้ยนได้ แต่การวาง saddle แบบเอียงก็ยังไม่ดีพอ เพราะคนมั่นชั่งคิดๆๆๆ !! ก็นั่งคิดๆๆๆๆ กันไปเรื่อยๆ
"compensated saddle" จึงเกิด... "compensated saddle" หรือ split saddle (split two saddle) ขึ้นมา (ตามภาพประกอบด้านบน) เพื่อให้ได้สิ่งที่แม่นยำกว่า ถามว่าเขาใช้สูตรอะไร จึงเชื่อว่าจะเป็นแบบนั้น? ผมยกตัวอย่าง...กีต้าร์สัก 2 ยี่ห้อ ที่นิยมใช้ saddle แบบ split saddle (split two saddle) คือ Takamine และ Lowden Guitar นะครับ
Takamine และ Lowden เชื่อว่า... Saddle 2 ชิ้นแบบแยกกัน จะสามารถให้ Intonation หรือชดเชยค่าเฉลี่ยความเพี้ยน ได้ดีที่สุด ลองคิดดูว่า สายกีต้าร์ 1 และ 2 มันเสั้นเล็กกว่า สาย 3 4 5 และ 6 ดังนั้น แรงกดลงไปบน saddle ย่อมน้อยกว่าแน่นอน รวมไปถึงแรงเหวี่ยง/การสั่นของสาย... ด้วยสาเหตนี้ กีต้าร์บางตัว จึงเสียงออกไม่เท่ากัน เช่น สาย 1 2 เสียงเบากว่า 3 4 5 6 เป็นต้น โดยเฉพาะ เวลาเล่นออกภาคไฟฟ้า จะเห็นชัด ในกรณีที่กีต้าร์ตัวนั้นไม่บาลานซ์(Balance) เพราะแรงกดของสาย 1 - 6 ทีทับลงบน standard saddle มันไม่เท่ากัน อย่างที่บอกไว้ข้างต้นแล้วว่า สาย 1 2 มันแรงกดเบา ส่วนสาย 3-6 มันแรงกดเยอะ ด้วยเหตนี้ Takamine และ Lowden (รวมถึงอีกบางยี่ห้อ) จึงนิยมใช้ split saddle (split two saddle) ครับ
ขอย้ำว่า saddle ประเภทนี้ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่า มันจะดีกว่า เพราะเรื่องของความเพี้ยน หรือ Intonation มันมีส่วนประกอบอื่นๆ เข้ามเกี่ยวข้องด้วย ฝีไม้ลายมือ ประสบกรณ์ หูของช่าง หรือเครื่งมือของช่าง ก็มีส่วนไม่น้อยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม จากหลายๆ บทความ โดยช่างทำกีต้าร์ที่มีชื่อเสียงระดับโลก ได้ให้ข้อคิดไว้ว่า "compensated saddle" และแบบ "split saddle" มีความแม่นยำในเรื่อง Intonation หรือค่าเฉลี่ยความเพี้ยนมากที่สุด ! แต่..ถ้าหูของคุณ ไม่ได้หูเทพ เท่ากับช่างกีต้าร์ระดับโลก ก็คงไม่ต้องซีเรียสมากถึงขนาดว่า เวลามองกีต้าร์ตัวเองที่ใช้ standard saddle แล้วก็ต้องกลุ้มใจในทุกๆ ครั้งที่เห็นมันหรอกนะ เพราะเอาเข้าจริงๆ สำหรับกีต้าร์ที่ได้มาตรฐาน ไม่ว่าจะ standard saddle หรือ split saddle ผมว่ามันก็เที่ยงตรงเกินกว่าหูของผมจะจับผิดมันได้แล้วนะครับ เอาเป็นว่า.... แล้วแต่ว่าท่านจะชอบแล้วกันนะครับ ชอบแบบไหน ก็เลือกแบบนั้น เวลาเห็น หรือเล่น จะได้มีความสุขกับมัน
มาถึง saddle ประเภทสุดท้าย... คือ "Long Saddle" (ดูภาพประกอบ) Saddle ประเภทนี้ มักจะพบได้ในกีต้าร์ระดับราคาสูง หรือไฮเอ็น และต้องเป็นกีต้าร์สไตล์ vintage หรือย้อนยุค เท่านั้น หลายท่านเริ่ม งงๆ ทำไมต้อง vintage หรือย้อนยุค? ดังนั้น เพื่อความเข้าใจถึงคำว่า Vintage หรือย้อนยุค ผู้เขียนขอเล่าเรื่อง long saddle สักนิด... Long saddle เริ่มใช้กันมา ตั้งแต่ยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยบริษัท Martin Guitar เป็นผู้ริเริ่ม และบุกเบิก ยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ก็น่าจะประมาณก่อนปี 1939! เห็นยังว่า ทำไมถึงต้องเรียกกีต้าร์ในยุคนั้นว่า Vintage หรือย้อนยุค เพราะว่ามันเป็นยุคแรกๆ ของการดีไซด์ หรือสร้างกีต้าร์ ไงครับ บริษัท Martin Guitar เชื่อว่า การทำ long saddle ช่วยทำให้หางเสียงยาว และนิ่ง ขึ้น (ฟังกันออกหรือเปล่า เป็นอีกเรื่องหนึ่ง) และยังได้เนื้อเสียงเบส(ย่านเสียงต่ำ)ที่นุ่มนวลขึ้นอีก (แม่เจ้า...) แล้วทำไม ไม่ใช้ Long Saddle ให้มันตลอด หรืออย่างเดียวล่ะครับ? นั่นสิ..... ขึ้นชื่อว่า "มนุษย์" เกิดมาเพื่อเป็นนักคิดอยู่แล้ว การค้นหาสิ่งแปลกใหม่ ไม่ใช่เรื่องแปลกของมนุษย์ แต่...ก็หยุดค้นหาสิ่งแปลกใหม่ต่างหาก ที่แปลกสำหรับมนุษย์...!
หลังจากใช้ Long Saddle มาได้หลายปี ทาง Martin หันกลับมาใช้ saddle แบบปกติ หรือ Short Saddle อีกครั้งในช่วงปี 1965 วันเวลาผ่านไป หลายสิบปี ผู้เล่นบางส่วน เริ่มอยากได้ซาวด์แบบเดิมๆ กลับมา หลายคนโหยหาสำเนียงกีต้าร์แบบยุคเดิมๆ เวลานั่งเปิดแผ่นเสียง ฟังเพลงในยุคเก่า แล้วรู้สึกคิดถึงเสียงสำเนียงกีต้าร์ แบบที่เล่นอัดลงแผ่นเสียงในยุคนั้น ไอ้จะไปหาซื้อกีต้าร์เก่าๆ ในยุคนั้นๆ มาเล่น มันเป็นเรื่องที่ยาก และกีต้าร์เก่ายุคนั้น (ที่ยังมีชีวิตรอด) ก็ยังมีราคาแพงมาก ดังนั้น ในเมื่อหาซื้อกีต้าร์ยุคเก่าไม่ได้ ก็ทำโครงสร้างแบบเก่าๆ สะเลย Long Saddle จึงเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างกีต้าร์ในแบบ Vintage Style
แต่ Long Saddle ก็มีปัญหาอยู่บ้าง ในกรณีที่ต้องการมาติดตั้ง piezo pickup (ติดตั้งอยู่ใต้ saddle) ที่หลัง เพราะความยาวมันไม่เท่ากัน พูดง่ายๆ ว่า Long Saddle มียาวกว่าขนาดของ piezo นั่นเอง ฉะนั้น หากจะต้องติดตั้ง piezo pickup ที่หลัง ก็อาจจะมี pickup อยู่ไม่กี่ยี่ห้อ/รุ่น ที่ทำใส่กับ long saddle ได้ แต่ไม่ต้องกังวน เพราะเดียวนี้ มี pickup ปะะเภทคาดซาวด์โฮล คุณภาพเจ๋งๆ เราสามารถเลือกใช้ pickup ประเภทนี้ได้ ตัวอย่างเช่น pickup จากค่าย Lr. Baggs รุ่น M1 หรือ Anthem เป็นต้น
มาถึงตรงนี้ หลายๆ ท่านคงจะพอเข้าใจแล้วว่า ทำไม Saddle Guitar จึงมีหลายแบบ คุยมาถึงตรงนี้ ผู้เขียนรู้สึกมันส์มือกับเรื่องกีต้าร์ยุคโบราณ หรือ Vintage Style ไว้ครั้งต่อไป เราจะมาพูดถึงเรื่องนี้กันนะครับ, แล้วพบกับ open Gear ในครั้งต่อๆ ไป ครับ
สำหรับท่านที่ต้องการซื้อ Saddle ในแบบต่างๆ ผู้เขียนขอแนะนำ
ร้าน http://www.acousticshops.com/store/ เป็นร้านออนไลน์
ที่จำหน่าย Saddle หลากหลายประเภทหลายเกรด สามารถปรึกษาเจ้าของร้านได้
เนื่องจากเป็นผู้เชี่ยวชาญ และน่าเชื่อถือ ในเรื่องการจัดส่งสินค้าแน่นอน
การันตีจากประสบการณ์ขายสินค้าออนไลน์มามากกว่า 10 ปี
(ติดต่อคุณตะวัน 081-791-2223)
เขียน/เรียบเรียงโดย ทีมงานอะคูสติกไทย (www.Acousticthai.Net)