Peter Paul and Mary หนุ่มสาวนักปฎิวัติยุคฮิปปี้ที่แสดงตัวว่าเป็น "ขบถ" ไม่สนต่อทุนนิยมใดๆ
Puff, the magic dragon lived by the sea
And frolicked in the autumn mist in a land called honah lee.
บทเพลง "Puff the magic dragon" ที่กำลังบอกเล่าถึงความสัมพันธ์ของเด็กหนุ่มแจ็คกี้(jackie) กับเจ้ามังกรชื่อพัฟฟ์(Puff)
ที่แฝงไปด้วยความหมายอันลึกซึ้ง
ทั้งสองชอบล่องทะเล มีชีวิตสนุกสนาน แต่ทว่า...ชีวิตของคน กับมังกร แตกต่างกัน!? ชีวิตคนเปลี่ยนแปลงได้ง่ายทั้งรูปร่าง
และนิสัยใจคอ เมื่อเด็ก Jack เริ่มโตขึ้น เขาก็มีชีวิตอีกแบบ สนใจสิ่งใหม่ๆ มองหาของเล่นใหม่ๆ เขาปล่อยให้เจ้ามังกร puff
ต้องอยู่อย่างเดียวดาย เจ้ามังกร Puff ไร้เพื่อนชื่อ jack เช่นเคยเป็นมา และต้องเก็บตัวอยู่อย่างเดียวดาย
ผมจำไม่ได้ว่า... ได้ยินเพลง "Puff the magic dragon" ครั้งแรกเมื่อตอนอายุเท่าไร แต่จำได้ชัดเจนว่า ผมรู้สึกชื่นชอบ และ
รักเพลงนี้ตั้งแต่เมื่อครั้งที่ยังเล่นกีต้าร์ไม่เป็น, พี่ชายข้างบ้านมักจะหยิบอะคูสติกกีต้าร์มาร้องเพลงนี้ให้ฟังอยู่เสมอๆ
ในตอนนั้นผมไม่รู้ความหมายหรอก รู้แต่ว่าเมโลดีมันสวยดี ฟังแล้วสบายใจ ยิ้มให้กับความน่ารักของจังหวะ และมันเป็นเพลงแรกๆ
ที่ทำให้ผมสนใจ ชื่นชอบ และรักที่จะฟังเพลงแบบประสานเสียง
วันนี้ 16 กันยายน 2552 ผมเพิ่งได้รับข่าวที่ไม่สู้ดีนักกับการจากไปของ “แมรี่ เทรเวอร์” สมาชิกคนสำคัญของวงดนตรีโฟล์คซอง
ซึ่งเป็นตำนานยาวนานจากปลายยุค 60's ในนาม“ปีเตอร์ พอล แอนด์ แมรี่” ซึ่งได้เสียชีวิตลงแล้ว หลังจากที่เขาได้ต่อสู้กับ
โรคร้ายมาอย่างยาวนาน
ผมรีบโทรหาพี่สมบูรณ์ ผู้ซึ่งเป็นสาวก "Peter Paul & Mary" ตัวจริงคนหนึ่ง
พี่ผมมีข่าวจะมาบอก! ...ผมเอ่ยด้วยเสียงปนเศร้า
Mary ตายแล้ว! ...พี่สมบูรณ์พูดก่อนที่ผมจะเอ่ยปากสะอีก
พี่สมบูรณ์เสริมต่อด้วยเสียงอันทุ้มต่ำด้วยความรู้สึก ที่เศร้า เมื่อต้องพูดถึงศิลปินที่รัก ซึ่งได้จากไป มันก็เหมือนกับ The Beatles นั้นล่ะ
เมื่อขาด John Lennon ความหมายก็คือไม่มี The Beatles อีกแล้ว วันนี้ก็เช่นกัน เมื่อขาด Mary ก็หมายถึงว่า
"ไม่มี Peter Paul & Mary อีกแล้ว" พี่สมบูรณ์กล่าวจบ ไปพร้อมๆ กับความคิดของผมที่เห็นด้วยอย่างยิ่ง
วันนี้ผมเปิดเพลง "Puff the magic dragon" ด้วยอารมณ์ที่แตกต่างจากทุกๆ ครั้ง มันไม่รู้สึกเบิกบานเหมือนทุกๆ ครั้ง!
Peter Yarrow เกิดเมื่อ 31 พฤษภาคม 1938 ใน New York เป็นต้นแบบของนักต่อสู้เพื่อประชาธิไตย
ต่อต้านสงครามเวียดนาม นักต่อสู้เพื่อสันติภาพตัวยง ด้วยเป็นคนที่หน้าตาหล่อเหลา
จึงถูกเรียกขานว่าเป็นหนุ่มหล่อประจำวง Peter Paul & Mary
Peter มีความสามารในการเล่นอะคูสติกเป็นอย่างมาก และเป็นผู้ที่มีเสียงร้องที่เศร้า เขา
จึงเป็นผู้ที่สามารถถ่ายทอดอารมณ์เพลงที่เศร้าออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม และยิ่งกว่านั้น
คือ เขาเป็นนักเขียนเพลงตัวฉกาจ หลายๆ เพลงที่ Peter ได้เขียนให้กับ PPM
มักได้รับความนิยมเสมอๆ เช่นบทเพลง Puff the magic Dragon, Day is done เป็นต้น
ปลายปี 60's ทั้ง Pete, Paul และ Mary ได้มีโอกาสมาพบกัน เมื่ออัลเบิร์ท กรอสส์แมน ผู้จัดการวงดนตรี และนักปั่นผู้โด่งดัง
ในวงการโฟล์คซอง มีความคิดที่จะสร้างวงดนตรีโฟล์คซอง ที่จะเป็นสุดยอดวงดนตรีแห่งวงการโฟล์คขึ้นมา โดยการมีความคิด
ที่จะรวบรวมเอาหนุ่มสาวที่มีความสามารถ และมีบุคลิกที่ซึ่งแตกต่าง และหลากหลาย 3 คนมารวมเป็นวงดนตรีเดียวกัน นั้นคือ
แบบฉบับ Trio ที่เขาคิดไว้ และมันก็เกิดขึ้นจริงๆ ภายใต้ชื่อ "Peter Paul and Mary"
Paul Stookey (พอล สตุกกี้) ถูกเรียกว่าเป็น หนุ่มฮา , Peter Yarrow (ปีเตอร์ ยาโรว์) เป็นหนุ่มหล่อ
และ Mary Travers สาวสวยผมบลอนด์ แมรี เทรเวอร์ จึงได้ร่วมตัวกันในชื่อ “ปีเตอร์ พอล แอนด์ แมรี่”
ปี 1961... ทั้งสามเริ่มทำอัลบั้ม และได้ออกจำหน่ายในปี 1962 ภายใต้ชื่ออัลบั้ม "Peter Paul & Mary"
ตามชื่อของสมาชิกแต่ละคน ซิงเกิ้ลแรก ที่ออกมาคือ "If I had a Hammer" ซึ่งสามารถขึ้นติด Bill board Pop single Chart
และเพลง If I had a Hammer ยังได้รับรางวัล Best Folk Recording ในปี 1963 อีกด้วย
เพลง If I had a Hammer ได้ถูกเขียนไว้ตั้งแต่ปี 1949 โดย Pete Seeger และ Lee Hays
อเมริกันโฟล์คซองในยุคนั้น แต่กลับไม่ได้รับการตอบรับดีเท่าที่ควรจะเป็น แต่กลับมาดังเป็นพลุแตก
เมื่อถูก cover หรือนำมาทำใหม่โดย Peter Paul & Mary
If I had a Hammer เป็นเพลงที่มีจังหวะสนุกๆ เสียงอะคูสติกกีต้าร์ที่ผสานเข้ากันกับเสียงร้องของ Peter Paul & Mary
ทำให้เพลงที่พูดถึงการต่อสู้ทางผิวพันธุ์ที่ควรจะเครียด กับให้ความรู้สึกปลอดโปร่ง คึกคัก และสนุกสนานเข้ามาแทน
นอกจากเพลง If I had a Hammer จะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีแล้ว ผลงานอัลบั้มนี้ยังมีเพลงที่น่าสนใจอีกมากมาย
ไม่ว่าเป็นเพลง "Early In The Morning" (เขียนโดย Gordon Lightfoot), "500 Miles" (เขียนโดย Hedy West), "Cruel War"
(แต่งโดย Peter Yarrow, Noel Stookey), "Lemon Tree" (เขียนโดย Will Holt), "If I Had a Hammer"
(เขียนโดย Pete Seeger และ Lee Hays) และ "Where Have All the Flowers Gone" (เขียนโดย Pete Seeger)
If I had a Hammer ไม่ใช่เพลงแรกที่ Peter Paul and Mary นำเอามาร้องใหม่จนเพลงได้รับความนิยมมากกว่าฉบับเดิม
แต่ยังมีอีกหลายๆ เพลง เช่น Leaving on a Jet Plane ที่แต่งโดย John Denver, หรือบทเพลง Blowin' in the Wind,
และ Don't Think Twice,It's All Righ ที่แต่งโดย Bob Dylan เป็นต้น
Peter Paul & Mary นอกจากจะเป็นวง Trio โฟล์คซองที่ได้รับความนิยมในต้นยุค 70's เขาเป็นผู้นำหรือตัวแทนหนุ่มสาว
ที่เดินขบวนต่อต้านสงครามเวียดนาม และยังมีบทบาทกับการต่อสู้เพื่อความเสมอภาคทางสิทธิมนุษยชน ทางด้านสีผิว เสมอๆ
ปี 1963 Peter Paul & Mary ได้ออกอัลบั้มชุดที่สอง ชื่อ "Moving" ซึ่งอัลบั้มนี้ มีเพลงเด็ดอย่าง A'soalin ที่ได้แสดงถึงความสามารถ
ในการเรียบเรียงดนตรี และฝีไม้ลายมือในการเล่นกีต้าร์ของ Peter และ Paul ว่าสุดยอดแค่ไหน อัลบัม Moving ยังมีเพลงไพเราะมากมาย
เช่น Gone the rainbow, Puff the magic dragon, Settle Down และ Flora เป็นต้น
บทเพลง Puff the Magic dragon นับเป็นเพลงที่ทำให้ Peter Paul and Mary สามารถเข้าไปนั่งอยู่ในใจทั้งวัยเด็ก และวัยผู้ใหญ่
ทั้งยังเป็นเพลงที่เป็นตำนาน เป็นต้นแบบ หรือแบบฝึกให้กับผู้ที่สนใจอยากจะฝึกเล่นอะคูสติกกีต้าร์อีกด้วย
หากฟังเพียงผ่านๆ Puff the Magic dragon เหมือนเพลงเล่านิทานก่อนนอนให้กับเด็ก หรือไม่ก็เป็นเพลงสนุกๆ เพลงหนึ่ง
ที่มีท่วงทำนองน่าฟัง น่ารัก สนุกสนาน แต่ในความจริงเมื่อตั้งใจฟังแปลกความหมายของเพลง Puff the Magic dragon
กลับเป็นเพลงที่สร้างความเศร้า สร้างความ สะเทือนใจได้ไม่น้อยเลยทีเดียว
เดิมที่เพลงนี้มาจากบทกวีจากหนังสือเล่มหนึ่งเรื่อง Custard the Dragon /Ogden Nash,
วันหนึ่งที่บ้านของ Peter เขาได้พบกระดาษที่มีบทกวีนี้ (เพื่อนของเขาที่ชื่อ Leonard ได้ทิ้งไว้ที่บ้าน)
เรื่องราวบทกวีนี้เขียนถึงชีวิตมังกร, Peter จึงนำมาประยุกต์
Peter ได้เขียนถึงชีวิตมังกร(ชื่อ Puff) กับเด็กน้อยชื่อ Jackie ทั้งสองชอบล่องเล่นกลางท้องทะเล มีชีวิตสนุกสนาน
แต่ทว่า... ชีวิตของคน กับมังกร แตกต่างกัน!? ชีวิตคนเปลี่ยนแปลงได้ง่ายทั้งรูปร่าง และนิสัยใจคอ เมื่อเด็ก Jack เริ่มโตขึ้น
เขาก็มีชีวิตอีกแบบ สนใจ สิ่งใหม่ๆ มองหาของเล่นใหม่ๆ เขาปล่อยให้เจ้ามังกร puff ต้องอยู่อย่างเดียวดาย
เจ้ามังกร Puff ไร้เพื่อนชื่อ Jack เช่นเคยเป็นมา และต้องเก็บตัวอยู่อย่างเดียวดาย
เนื้อเพลง และคำแปล.... Puff, the magic dragon
( * ) Puff, the magic dragon lived by the sea
And frolicked in the autumn mist in a land called honah lee,
เจ้าพัฟฟ์ มังกรวิเศษมีชีวิตอยู่กับท้องทะเล
มีชีวิตสนุกสนานกับบรรยากาศที่เต็มไปด้วยหมอกควันของฤดูใบไม้ร่วงในดินแดนแห่งนี้ ที่ถูกเรียกว่า โฮนา ลี
Little jackie paper loved that rascal puff,
And brought him strings and sealing wax and other fancy stuff. oh
หนูน้อยแจ็คกี้ เปเปอร์ รักเจ้ามังกรขี้เล่นพัฟฟ์
และเขาได้นำเชือกมาผูกเข้ากับเจ้าพัฟฟ์ ตามจินตนาการ
( * )
Together they would travel on a boat with billowed sail
Jackie kept a lookout perched on puffs gigantic tail,
พวกเขาออกท่องเที่ยวด้วยกันบนเรือใบ
โดย แจ็คกี นั่งประครองตัวเอง อยู่บนหางอันใหญ่ของเจ้าพัฟฟ์
Noble kings and princes would bow wheneer they came,
Pirate ships would lower their flag when puff roared out his name. oh!
จะราชา, และผู้สูงศักดิ์ ก็ต้องยอมให้ เมื่อพวกเขาผ่านมา,
เรือโจรสลัดต้องลดธงลง เมื่อได้ยินเสียงคำรามของมังกรพัฟฟ์ ที่คำรามออกมา
( * )
A dragon lives forever but not so little boys
Painted wings and giant rings make way for other toys.
มังกรมีชีวิตนิรันดร แต่เด็กน้อยนั้นไม่ใช่
เมื่อเด็กน้อยเริ่มเติบโต เค้าก้อเริ่มที่จะสนใจของเล่นใหม่ๆ
One grey night it happened, jackie paper came no more
And puff that mighty dragon, he ceased his fearless roar.
ในคืนวันที่แสนเศร้าก็เข้ามา, Jack ไม่ปรากฎตัวเพื่อมาเล่นด้วยกันเหมือนเก่า
มังกรผู้กล้าอย่างเช่น puff ก็เริ่มเปลี่ยนไปจากเดิม
His head was bent in sorrow, green scales fell like rain,
Puff no longer went to play along the cherry lane.
มังกรผู้น่าสงสารมีอาการโศกเศร้า เกร็ดเขียวๆของมันล่วงหลุดเปรียบคล้ายดังสายฝน
มันไม่ออกไปเล่นที่ไหนๆ ให้สนุกสนานเหมือนเดิมอีกเลย
Without his life-long friend, puff could not be brave,
So puff that mighty dragon sadly slipped into his cave. oh!
เมื่อไม่มีเพื่อนรัก, เจ้ามังกร puff ก็ไม่สามารถที่จะเป็นมังกรผู้กล้าเก่งได้เช่นเดิม
ดังนั้นแล้ว เจ้ามังกร puff ที่เคยเก่งกล้า ก็ได้แต่เก็บตัวอยู่ในถ้ำอย่างเศร้าหมอง
อาจจะกล่าวได้ว่า เพลง Puff the magic dragon ความหมายออกจะเศร้าๆ และมีนัยะแผงไว้มากมาย แต่ท่วงทำนองที่น่ารัก
ผสมกับเสียงร้องอันน่ารักของ Peter Paul & Mary จึงทำให้ความหมายที่เศร้านี้ กลายเป็นบทเพลงที่สนุก เมื่อได้ฟังแล้วรู้สึก
เบิกบานได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ
มีหลากหลายมุมมองที่มีต่อเพลงนี้ หลายคนว่ามันป็นเพลงที่เกิดจากจิตนาการของ "ผู้ที่เสพกัญชา" ก็มันช่วยไม่ได้
เพราะพวกนักตีความหมายเพลงยุค 70's มากมาย มักจะพยายามผูกเพลงต่างๆ ในยุคฮิปปี้ หรือยุคบุปผาชน เข้ากับสิ่งเสพติดเสมอๆ
เนื่องจากในเพลงนี้มีสองสามคำที่ทำให้ตีความเข้ากับสิ่งเสพติด เช่น Land of hanah lee คือเมืองหนึ่งที่ขึ้นชื่อในเรื่องการปลูกกัญชา
หรือคำว่า Jackie paper มันคล้ายกับคำว่า Rolling Paper การม้วนบุหรี่หรือกัญชา แต่ Peter ก็ยืนยันว่า เขาเขียนเพลงนี้ด้วยความรู้สึก
ถึงสูญเสียบางอย่างในช่วงที่วัยเยาว์ ก็เท่านั้นเอง.
นอกจากนั้นบทเพลง Puff the Magic dragon นับเป็นอีกเพลงที่ถูกนำมา cover หรือร้องใหม่ในหลากหลายเวอร์ชั่น
บทเพลงนี้เปรียบเสมอ ลายเซ็นของ Peter Paul & Mary ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ปี 1964 ในปลายปี Peter Paul & Mary ได้ออกผลงานอัลบั้ม "In the wind" ซึ่งมีเพลง Hush-A-Bye เป็นเพลงเอก
ว่ากันว่าเพลงนี้เป็นเพลงกล่อมเด็กในสมัยโบราณนานมาแล้ว ซึ่งไม่ได้มีนัยะเกี่ยวกับการต่อต้านสงครามแต่อย่างใด
ยังมีเพลงดีๆ อย่าง Tell it on the Mountain และ Blowin' in the Wind, รวมถึง Don't Think Twice, It's All Righ
ซึ่งเป็น 2 เพลงเอกที่แต่งโดย Bob Dylan ซึ่งได้รับความนิยมมากกว่าครั้งที่ Bob Dylan ได้ออกอัลบั้มตัวเองเสียอีก
เพลง Don't Think Twice,It's All Righ นับเป็นเพลงเจ๋งและเด็ดมาก
ซึ่ง Bob Dylan ได้เขียนเพลงนี้ในขณะที่ตัวเองอายุแค่ 22 ปีเท่านั้นเอง! "Blowin' in the wind"
The answer, my friend, is blowin' in the wind
The answer is blowin' in the wind
คำตอบน่ะหรือ, เพื่อนเอ๋ย, ก็คือแค่สิ่งที่กระจายอยู่ในสายลมไง
คำตอบก้อคือสิ่งที่กระจายอยู่ในสายลม
จำได้ว่าผมมีโอกาสฟังเพลง "Blowin' in the wind" จากเวอร์ชั่น Peter Paul & Mary มาก่อนที่จะรู้จัก Bob Dylan ซะอีก
Blowin' in the wind เป็นเพลงที่ Bob Dylan เขียนขึ้นในยุค 70's ในช่วงสงครามเวียดนาม มันเป็นเพลงประท้วงในแบบที่
Bob Dylan ถนัด ซึ่ง Bob Dylan ถือเป็นแก็งค์เดียวกับ Peter Paul & Mary คือแก็งค์นักสู้เพื่อประชาธิปไตย
ต่อต้านสงคราม แก๊งค์ที่ใช้ปลายปากกา ใช้เสียงเพลง และใช้กีต้าร์ต่อสู่การปากกระบอกปืน!
Blowin' in the wind เพลงๆ นี้ดูจะเป็นอีกในหลายๆ เพลง ที่ Mary ได้รับหน้าที่ร้องเป็นเสียงหลัก
Peter ร้องในเสียงสูง และ Paul ร้องเสียงต่ำ มันช่างเป็นศิลปะแห่งการประสานเสียงที่ยอดเยี่ยมในยุค 70's จริงๆ
ปี 1965 อัลบั้ม "A song will rise" พวกเขาได้นำเพลงเก่าๆ หลายๆ เพลงออกมาร้องใหม่ในแบบ Trio
ไม่ว่าจะเป็นเพลง when the ship come on เขียนโดย Bob Dylan, The san Francisco bay Blues ที่เขียนโดย Jesse Fuller
ปี 1966 อัลบั้ม "See what tomorrow Bring" ผลงานอัลบั้มนี้ยังคงได้รับการตอบรับเหมือนเดิม
โดยมีเพลงอย่าง Early in the Mornin' rain เป็นเพลงเอกของอัลบั้ม ผลงานเพลงชุดนี้
สามารถขึ้นถึงชาร์ตอันดับ 11 ใน Billboard
ปี 1967 อัลบั้ม "1700" ประสบความสำเร็จอย่างสูงอีกครั้ง เมื่อมีเพลงอย่าง Leaving on the jet plane
ซึ่งเขียนโดย John Denver ในปี 1967 ซึ่งก็เป็นปีเดียวที่อยู่ในอัลบัม Rhymes and Reason และได้ออกวางจำหน่ายในเดือนตุลาคม
John Denver ได้เขียนเพลงนี้ไว้ให้แด่ภรรยาของตนเอง เนื้อหาที่ John Denver ได้สื่อออกมาให้เห็นว่า เขารักกับการบินแค่ไหน แต่ก็แฝง
ด้วยความรักที่มีต่อหญิงที่ตนรัก, Leaving on the jet plane นับเป็นเพลงหนึ่งที่ถูกนำไป cover หรือร้องใหม่ในหลากหลายเวอร์ชั่น มากมาย
จนนับไม่ถ้วน น่าจะเป็นเพลงหนึ่งที่ถูกนำไป cover มากที่สุด.
Mary ร้องเป็นเสียงหลักในเพลงนี้ ส่วน Peter และ Paul ร้องเสียงต่ำ และสูง ซึ่งเพลงนี้ได้เล่นแตกต่างจากเวอร์ชั่นที่ John Denver
ได้เล่น ในแบบฟิงเกอร์ปิ๊คกิ้ง โดยได้เปลียนมาเป็นเล่นแบบตีคอร์ดแทน
ปี 1968 อัลบั้ม "Late Again" ออกมาในช่วงเวลาแห่งการต่อต้านสงคราม โดย Peter Paul & Mary ได้มีบทบาทในการเข้าร่วมด้วย
บทเพลง too much nothing ที่เขียนโดย Bob Dylan ได้ถูก Peter Paul & Mary มาร้อง cover ใหม่และได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
ปี 1969 อัลบั้ม "Peter, Paul & Mommy" นับเป็นอัลบั้มช่วงท้ายของเขาทั้งสามคน มีเพลงอย่าง "Day is Done" เป็นเพลงฮิต
ที่ยังพอทำให้ผลงานชุดนี้ผ่านไปได้ โดยการขึ้นถึงอันดับ 21 ในชาร์ต แต่ก็นับเป็นช่วงขาลง เพราะกระแสเพลงโฟล์คเริ่มตกลง
เมื่อกระแสเพลง Rock 'n Roll และเพลงแนวอื่นๆ เริ่มเข้ามาแทนที่
หลังจากปี 1970 พวกเขาแยกย้ายกันทำผลงานอัลบั้มเดี่ยว Mary มีผลงานออกมา 5 ชุด และคนอื่นๆ ก็เช่นกัน
แต่ทั้งหมดไม่มีใครประสบความสำเร็จได้เท่ากับงานเพลงที่ทำในนาม Peter Paul & Mary เลยแม้แต่คนเดียว
อาจจะกล่าววได้ว่าในช่วงปี 1971 ถือเป็นยุคกระแสตกของดนตรีโฟล์ค แม้กระทั้ง Bob Dylan ยังทรยส (มันจะแรงไปไหม?)
แฟนเพลงของเขา ด้วยการหันมาจับกีต้าร์ไฟฟ้าซะงั้น!??
ในปี 1978 Peter Paul & Mary กลับมารวมตัวกันอีกครั้ง เพื่อแสดงคอนเสิร์ตต่อต้านการใช้พลังงานนิวเคลียร์
Mary Travers (แมรี ทราเวส) จบชีวิตลงเมื่อวันพุธที่ 16 กันยายน 2552 ด้วยวัย 72 หลังป่วยด้วยโรคลูคีเมียมาหลายปี
เว็บไซต์ของ Peter, Paul & Mary ระบุว่า... เธอตายเพราะผลข้างเคียงจากการรักษาด้วยคีโม
Peter กล่าวว่า... Mary รู้ตัวว่าอาการแย่ลงตั้งแต่ช่วงกลางปี แต่ก็พร้อมยอมรับกับชีวิตที่เหลือ อย่างเข้มแข็ง
ส่วน Paul กล่าวว่า... Mary เป็นนักต่อสู้เพื่อผู้คนที่ไม่มีโอกาสต่อสู้ เขารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ร่วมงาน และร่วมต่อสู้มากับเธอ
การจากไปของ Mary เปรียบเสมือนการปิดตำนานของ Peter Paul & Many อย่างแท้จริง!
ทีมงานอะคูสติกไทย ขอไว้อาลัย และแสดงความเสียใจ ในการจากไปของ Mary Travers (แมรี ทราเวส) ด้วย
เขียน/เรียบเรียงโดย ทีมงานอะคูสติกไทย