ประวัติ Jim Croce และ ผลงานอัลบั้ม Jim Croce :
If I could save time in bottle The first thing that i'd like to do,
Is to save every day till eternity passes
away, Just to spend them with you...

Jim Croce ได้เสียชีวิตลงด้วยอุบัติเหตุทางเครื่องบิน ที่เมือง Natchitoches, Louisiana เมื่อ September 20, 1973 (พ.ศ. 2516) 

หลังจากที่พวกเขาได้กำลังเดินทางกลับจากการแสดง Concert ที่ Northwestern State University ซึ่งขณะนั้น Jim Croce มีอายุได้เพียงแค่
30 ปีเท่านั้น มีผู้ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้รวม 5 คน ซึ่งเป็นเพื่อนๆ ที่ร่วมเล่นดนตรีกับเขา และหนึ่งในนี้ก็คือ "เพื่อนที่แสนดี" ผู้ซึ่งมีบทบาทอันสำคัญอย่างยิ่ง
ต่องานเพลงของ Jim Croce นั่นคือ "Maury Muehleisen" มือกีต้าร์คู่กาย 

การจากไปของเขา นอกจากจะสร้างความโศกเศร้าต่อเพื่อนๆ และแฟนเพลงของเขาแล้ว ผู้ที่รู้สึกสูญเสียอย่างใหญ่หลวงก็หนีไม่พ้นสมาชิก
ในครอบครัว Croce และหนึ่งในนั้นก็คือ "Ingrid" 

Ingrid (Ingrid Jacobson) คู่ชีวิตที่ร่วมทั้งสุขและทุกข์กับ Jim Croce ซึ่งในทุกๆ วันนี้ Ingrid ยังคงได้รับสิ่งดีๆ ซึ่งเป็นผลพวงจากงานเพลง
ของ Jim Croce อย่างต่อเนื่องและยาวนาน ปัจจุบัน Ingrid ได้เปิดร้านอาหารโดยใช้ชื่อว่า "Croce’s" ใน San Diego ซึ่งมีผู้คนมากหน้าหลายตา
ที่แวะเวียนเข้ามาไม่ขาดสาย ไม่ว่าจากในประเทศและต่างประเทศ เช่น ชาวเวียดนาม อังกฤษ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และอีกหลายๆ ประเทศ

Ingrid อาจจะเป็นคนที่โชคดี และก็อาจจะเป็นคนที่โชคร้าย แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ผมก็เชื่อว่าที่ผ่านมา เธอคงไม่เคยนึกเสียใจกับการตัดสินใจ
ในการร่วมใช้ชีวิตกับ Jim Croce แม้ว่าในช่วงแรกๆ ของการใช้ชีวิตคู่ของเขาทั้งสอง จะเต็มไปด้วยความผิดหวัง และความลำบาก

Jim Croce เกิดเมื่อ January 10, 1943 ที่เมือง south Philadelphia มีชื่อเต็มว่า James Joseph Croce 

เขาเป็นครอบครัว "Italian" James Albert และ Flora Mary Barbucci Croce ผู้เป็นพ่อและแม่ และส่งให้เขาได้เรียนในวิทยาลัย
"Jim Croce เป็นบุตรคนแรกที่เรียนจนจบวิทยาลัย" เขาโตมาจากพื้นฐานครอครัวที่มีฐานะปานกลาง และเป็นครอบครัวใหญ่
ที่มีพี่น้องหลายคน ครวบครับ Croce ไม่เคยคิดที่จะสนับสนุนในเรื่อง ของการเล่นดนตรี เพราะคิดว่าการเล่นดนตรีน่าจะเหมือนกับ
การทำกิจกรรมเล็กๆ น้อย มากกว่าที่จะยึดเป็นอาชีพ 

ช่วงที่ Jim Croce อายุราวๆ 16 ปี ขณะที่เป็นช่วงวันหยุดเรียน เขาได้เข้าไปทำงานในร้านอาหารแห่งหนึ่ง ซึ่งในที่นั้นเอง
ที่ได้ทำให้เขามีโอกาสได้พบกับ "ผู้ชายผิวดำสองคน" ซึ่งเป็นนักดนตรีที่เล่นประจำในร้านอาหารแห่งนี้ Jim croce ดูจะสนอกสนใจ
ชายผิวดำทั้งสองคนนั้นเป็นพิเศษ ชายทั้งสองคนนี้ มีวิธีการเล่นที่แตกต่างจากนักดนตรีคนอื่นๆ นั้นคือการผสมผสานกันระหว่าง
"Guitar 1 และ Guitar 2" ซึ่งกีต้าร์ตัวที่สองนั้น จะเล่นโดยการใช้ Capo คาดที่คอกีต้าร์ในช่องที่ลึกๆ

ขณะที่นักดนตรีสองคนนั้นได้เดินลงมาในช่วงของพักการแสดง ชายคนหนึ่งก็ได้เดินมาคุยกับ Jim Croce และเมื่อรู้ว่าเขา
จะมีความสนใจเกี่ยวกับ Guitar อยู่ไม่น้อย ชายคนหนึ่งจึงได้พูดคุย และได้แนะนำเขา ให้ได้เรียนรู้ถึงวิธีการเล่นในแนวทางนี้
และด้วยเหตุนี้เอง ที่เป็นต้นสายปลายเหตุ ที่ทำให้เขาเกิดแรงบันดาลใจ และในคืนวันนั้น เขาก็กลับมาบอกพี่ชาย เพื่อให้ช่วยซื้อ Guitar ให้กับเขา 

ก็คงจะนับและเข้าใจได้ว่า "ชายผิวดำ 2 คนนั้น" มีอิทธิพลมากทีเดียว ถ้าหากว่าใครได้มีโอกาสฟังผลงานเพลงของ Jim Croce (ดูจากผลงาน)
ตั้งแต่ชุดแรกๆ ในปี 1967 ก็จะเห็นได้ว่า แนวทางเพลงจะออกไปทาง Blues ซึ่งก็คือแนวที่ชายผิวดำสองคนนั้นได้เล่น ต่างกันเพียงแต่ว่า
ช่วงยุคแรกๆ ของผลงานของเขานั้นจะเล่นคนเดียวเพียงลำพัง 

ซึ่งต่อมาในปี 1972 Jim Croce มีโอกาสได้ออก Album กับนักกีต้าร์ มือดี นั่นคือ "Maury Muehleisen" ความชัดเจนในแนวทางของการเล่น
Acoustic Guitar 2 Line ในแบบที่ชายผิวดำสองคนที่เขาเคยเจอและจดจำนั้น ก็ได้มีความชัดเจนขึ้น โดยความเป็น "Acoustic Blues" ที่เขาเคยได้
ทำไว้ใน Album เมือปี 1967 ก็เบาบางลง แต่ในช่วงที่ทำกับ Maury จะมีแนวทางของความเป็น Acoustic Folk มากขึ้น และก็ในช่วงนี้เอง
ที่ทำให้ Jim Croce ได้แสดงความสามารถในการเรียบเรียง และแต่งเพลงได้อย่างยอดเยี่ยม ผมรู้สึกว่า เขาทั้งสองเกิดมาเพื่อเป็นคู่กัน
แต่น่าเสียดายที่เขาทั้งสองได้มีโอกาสสร้างผลงานเพลงดีๆ ชั้นยอดไว้ให้เราได้เฉยชมน้อยเหลือเกิน

ช่วงเวลาในวงดนตรีของมหาวิทยาลัย "Glee Club Band" ค.ศ. 1961

ในวิทยาลัย Jim Croce ได้มีโอกาสเข้าไป Audition กับวงดนตรีของวิทยาลัยชื่อ "Glee Club" (วงที่เล่นและร้องกันในลักษณะประสานเสียง)
ซึ่งผู้ที่เปิดโอกาสให้ Jim Croce ได้เข้ามาอยู่ในวง Glee Club ก็คือ "Tommy Picardo West" ซึ่งขณะนั้น Tommy Picardo West เป็น
หัวหน้าวงดนตรี "Glee Club" และนี่ก็คืออีกจุดเริ่มต้น ของการเล่นดนตรีแบบจริงๆ จังๆ ของ Jim Croce 

ที่วง Glee Club ได้ทำให้มิตรภาพดีๆ ของคนสองคนเกิดขึ้น (1961)Tommy Picardo West ได้เดินเข้าไปทักทาย Jim Croce เมื่อในขณะที่เห็น
Jim Croce เดินและในมือหิ้ว Acoustic Guitar 12 สาย อยู่ในวิทยาลัย Tommy West เดินตรงเข้าไปที่ Jim Croce พร้อมกับแนะนำตัวเองก่อน
และ Jim Croce ก็แนะนำตัวเองกับ Tommy West เช่นกัน เขาทั้งสองคนพูดคุยกันสักครู่ แต่สิ่งที่ Tommy West ตกใจ (แต่ก็ดีใจ)
นั่นคือ Jim Croce เอ่ยปากบอกกับเขาว่า “ผมต้องการเข้าไปอยู่ในวง Glee Club ของคุณ ขอให้ฉัน Audition ได้ไหม?”

วันนั้น Jim Croce นำเพลงของ Ricky Nelson มาร้องให้กับ Tommy West ฟัง พอหลังจากฟังแล้ว Tommy West ก็สงสัย และก็อยากรู้ว่า
ทำไมต้องเป็นเพลงของ "Ricky Nelson?" Jim ตอบว่า “หลายๆ คน บอกว่า เสียงของเขาเหมือนกับ Ricky Nelson” Tommy West มองเห็นฝีไม้ลายมือ
และพรสวรรค์ของเขา, West จึงตอบรับให้เขาเข้าเป็นสมาชิกของวง Glee Club และมิตรภาพที่ดีๆ ของเขาทั้งสองคนก็ได้เกิดขึ้น 

ต่อมาในปี 1967 Tommy West ก็ได้แนะนำ Terry Cashman ให้ Jim Croce ได้รู้จัก และต่อมาทั้ง Tommy West และ Terry Cashman
ก็เป็นบุคคลที่มีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากที่ทำให้ Jim Croce ได้ออกผลงาน Album ในปี 1969 จนกระทั่งถึงผลงานอัลบัมในปลายปี 1973
ที่เป็นช่วง สุดท้ายในชีวิตของ Jim Croce

ภาพ Jim Croce & Ingrid & AJ. Croce

ย้อนกลับไป เมื่อตอนที่ Ingrid ซึ่งมีโอกาสได้พบกับ Jim Croce ณ คืนวันที่มีหิมะตก ซึ่งมันเป็นวันก่อนที่จะถึง Christmas Day เพียง 2 วัน
ในคืนวันนั้น Ingrid ได้เดินทางไป Audition ที่ WDAS Radio Station ในเมือง Philadelphia ณ คืนนั้น Jim ก็เป็นหนึ่งในชุดกรรมการผู้ตัดสิน
ในการทดสอบ (Audition) ครั้งนี้ด้วย 

Ingrid เล่าว่า...
ฉันยืนอยู่หน้า Microphone และกำลังใจจดใจจ่ออยู่กับการตั้งเสียงของ Acoustic Guitar ของฉัน แต่ ณ ขณะนั้นเองฉันก็เกิดความรู้สึกเหมือนว่า
มีใครคนหนึ่งกำลังจองมองฉันอยู่ ฉันมองผ่านเข้าไปในบานกระจกของห้อง Studio และขณะนั้น ฉันได้เห็นชายคนหนึ่ง ซึ่งดูท่าที่มุ่งมั่น ใจดี
และฉลาดคล่องแคล่ว ด้วยรูปลักษณะเด่นที่เส้นผมของเขาที่ดำหยัก และสั้น หลังจากที่ฉันได้ Audition เรียบร้อยแล้ว
ชายคนดังกล่าวก็ได้เดินตรงเข้ามาที่ฉัน พร้อมๆ กับพูดว่า “ผมชอบเสียงของคุณนะ บางทีเราอาจจะสามารถร้องเพลงด้วยกันได้” 

คืนนั้นฉัน Audition ผ่าน และนับเป็นสิ่งที่ฉันรู้สึกดีใจมากๆ แต่อีกสิ่งที่ฉันได้รู้สึกมากไปกว่านั้นก็คือ“ฉันรู้สึกว่า ฉันกำลังมีความรัก”
ในตอนนั้นฉันมีอายุได้เพียง 16 ปี ส่วน Jim Croce มีอายุเกือบ 20 ปี

Jim Croce สอนฉันร้องเพลง สำหรับฉันแล้ว ฉันชอบเสียงของ Jim Croce ฉันรู้สึกถึงความหวาน และนุ่มนวลในเสียงเขา และต่อจากนั้นไม่นาน
เราทั้งสองคนได้เป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน เรามีความสุขที่ได้เขียนบทเพลงด้วยกัน ได้ร้องเพลงร่วมกัน ฯลฯ และเราทั้งสองก็รู้สึกผูกพันต่อกันเป็นอย่างมาก
ขณะนั้น ณ ช่วงเวลานั้น ฉันก็รู้ว่า... “เราคงจะต้องแต่งงานกัน”

Jim Croce และ Ingrid ตกลงใช้ชีวิตคู่กันในเดือน January 1963 เขาทั้งสองใช้ชีวิตร่วมกันจนกระทั่งถึงวันที่ Jim Croce ได้เสียชีวิตลง
ในปี 1973 Ingrid กล่าวว่า เราใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน เราทำสิ่งดีๆ ด้วยกัน เราต่อสู้ และผ่านวันที่ลำบากมาด้วยกัน และสิ่งที่ดีที่สุดสิ่งหนึ่งที่เราได้ทำร่วมกัน
นั้นคือ "ลูกชายของเรา" เรามีลูกชายหนึ่งคนชื่อ "Adrian James Croce" (A.J. Croce) นี้เป็นอีกสิ่งหนึ่ง ที่เป็นสิ่งที่ทำให้ฉันมีกำลังใจที่จะอยู่
และสู้ต่อไปทุกๆ ครั้งที่ฉันได้เห็นเขา ก็เหมือนกับว่า "Jim ยังคงอยู่ใกล้ๆ ฉันไม่ไปไหน"

ปกอัลบั้ม "FACETS"

ครั้งหนึ่งพ่อและแม่ของ Jim Croce เคยพูดกับเขาถึงเรื่องงานของเขาที่ทำว่ามันไม่ค่อยจะมั่นคง กับการแค่ ร้องเพลงเล่นดนตรีไปวันๆ
แต่ว่าคำพูดเหล่านั้นก็ไม่ได้ทำให้เขาท้อแท้ หรือเปลี่ยนแปลงความฝันของเขาได้ เพราะหลังจากนั้นช่วงปี 1967 Jim และ Ingrid Croce
ได้เดินทางเข้ามา ใน New York ซึ่งช่วงเวลานี้เอง ที่เขาได้รับบทเรียนในการต่อสู้กับชีวิตเป็นอย่างมาก Jim Croce ได้เข้าไปร้องเพลง
และเล่นดนตรีใน Club เล็กๆ ในร้าน Coffee Club ใน New York บางครั้งร้องเล่นคนเดียว แต่บางครั้งก็ร้องเล่นกับ Ingrid 

Jim Croce เป็นคนหนึ่งที่ผ่านงานมาแบบหลากหลายรูปแบบ เช่น เป็นทั้งอาจารย์สอนพิเศษในวิทยาลัย, เป็นเจ้าหน้าที่ขายช่วงเวลาโฆษณา
ให้กับสถานีวิทยุ, เล่นดนตรีตามร้านอาหาร, ทำงานอยู่ในเหมืองแร่ หรือแม้กระทั่งเคยขับรถบรรทุก (ที่บริษัท CAT Machines) และยังใช้ช่วงเวลาว่างๆ
เขียนเพลงของเขาไปด้วย ณ ช่วงที่ขับรถบรรทุกแม้จะไม่ใช่งานที่สบาย แต่ Jim Croce ก็รู้สึกสนุกไปกับมัน เขาได้เพื่อนใหม่ๆ
รู้จักผู้คนมากหน้าหลายตา และยังได้มีโอกาสได้ไปในสถานที่ต่างๆ ที่ไม่ซ้ำกัน นั่นหมายถึงว่า เขาก็มีโอกาสได้นำช่วงเวลาแห่งประสบการณ์เหล่านี้
มาเขียนลงในบทเพลงของเขา สำหรับ Ingrid ก็ยังคงเรียนหนังสือที่วิทยาลัยในด้านสาขาวิชาศิลปะ แต่ก็ยังได้มีโอกาสทำงานกลางคืน
นั่นคือ ร้องเพลงใน Club ร่วมกับ Jim Croce ในร้านอาหารที่ Paddock (เป็นร้าน Bar and Steak House) 

ในปี 1966, Jim Croce ได้มีโอกาสออกผลงานเพลงเขาใช้ชื่ออัลบัมว่า "Facets" ซึ่ง Jim Croce ได้มีโอกาสร่วมงานกับ "Gordon Lightfoot"
ซึ่งได้เข้ามาช่วยเขียนเพลง Steel Rail Blues ให้กับ Jim Croce ผลงานชุดนี้ของ Jim Croce มีกลิ่นไอของดนตรี Blues ผสม Bluegrass
มากพอสมควร แต่มันก็ได้ทำให้เขาได้แสดงฝีมือด้านทักษะการเล่น Acoustic Guitar ได้อย่างเต็มที่ และสำหรับผม "Jim เล่นมันได้อย่างยอดเยี่ยมจริงๆ"

ในปี 1969, Jim และ Ingrid ได้ออกอัลบัมคู่กัน โดยใช้ชื่ออัลบั้ม "Jim & Ingrid Croce" 

แม้ว่าความฝันของพวกเขาจะเป็นจริงกับการออก Album แต่ในทางธุรกิจแล้ว มันไม่ประสบความสำเร็จเอาเลย! ผลงานชุดนี้ Tommy West
และ Terry Cashman ได้เป็นผู้ชักชวน ซึ่งทำให้ Jim Croce ให้ได้มีโอกาสได้ทำ Album เพลงในปี 1969 คู่กับ Ingrid โดย Tommy west
และ Terry Cashman เป็นผู้ Producer ในการบันทึกเสียง และยังช่วยเล่น Backup ให้กับอัลบัมของ Jim Croce และแม้ว่ามันจะไม่ประสบ
กับความสำเร็จ แต่พวกเขาก็ยังคงเดินหน้าสานฝันร่วมกันต่อไป ด้วยความตั้งใจ และด้วยความรักต่อดนตรีที่เขาได้ทำ 

Ingrid เล่าว่า ช่วงปี 1969 เขาและ Jim ลำบากมาก ถึงขั้นที่ต้องค่อยๆ ทะยอยๆ ขาย Guitar ที่เขาได้ซื้อสะสมไว้ ออกมาขายทีละตัวสองตัว
นั่นคือช่วงชีวิตที่แสนลำบากในมหานคร New York ชีวิตในเมืองใหญ่เป็นชีวิตที่ต้องแข่งขันแต่เขาก็ผ่านมันไปได้ 

แต่จากนั้นไม่นานนักในช่วงปี 1970 Jim & Ingrid ได้ตัดสินใจเดินทางออกจากเมือง New York เขาย้ายมาอยู่ที่ Pennsylvania
ในช่วงนี้ Jim Croce ก็ยังคงมีความลำบากพอสมควรกับการดำเนินชีวิต

Jim Croce ได้เข้าไปทำงานเป็นทั้งพนักงานในเหมืองแร่ และขับรถบรรทุก (Truck driver) แม้จะเป็นงานที่หนัก และก็ไม่สบายเอาเลย
แต่ถ้ามองให้เป็นบวก อีกด้านหนึ่งงานขับรถบรรทุกนี้มันก็ช่วยทำให้เขามีโอกาสเดินทางไปในสถานที่ต่างๆ ที่แตกต่างกันไป
มันเป็นประสบการณ์ที่ดี ที่จะเอาไปใช้เป็นแนวทางในการเขียนเพลง และในช่วงจังหวะเวลานี้เองเขาก็ได้หาโอกาสเขียนเพลงไปด้วยเสมอๆ
ในทุกๆ แห่งที่เขาไป ในทุกๆ ที่ ที่เขาสัมผัส ประสบการณ์ต่างๆ ในการเดินทางมันแฝงอยู่ในบทเพลงของเขาเสมอๆ 

Jim Croce บอกว่าเขาชอบงานนี้ เพราะมันทำให้ได้รู้จักผู้คนมากมาย รวมทั้งได้เดินทางไปตามสถานที่ต่างๆ ประสบการณ์เหล่านี้นำมาเป็นแนวทาง
และเป็นประโยชน์กับการเขียนเพลงของเขาเป็นอย่างมาก

แต่อย่างไรก็ตามผลงานอัลบัม Jim & Ingrid ก็มีความยุ่งยากพอสมควรกว่าที่จะได้ออกมา เพราะมันเป็นงานครั้งแรกของเขาทั้งสอง
อีกทั้ง Tommy west และ Terry Cashman ก็พึ่งดำเนินกิจการ Capitol Records ได้ไม่นาน Jim & Ingrid Croce จึงเป็น Album แรกๆ
ของ Capitol Records และมีอีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ณ ขณะที่ได้ออกวางจำหน่ายในปี 1969 นั้น "LP จำนวน 6 แผ่น" ของ Jim & Ingrid
ได้ถูกส่งมาขาย ที่ร้าน PXs ในประเทศไทย! ของเรานี้เอง ซึ่งในสมัยนั้น ร้านที่วางจำหน่ายแผ่นเสียง หรือจำหน่ายเครื่องใช้ต่างๆ ของชาวอเมริกัน
ก็จะรู้กันว่าต้องเข้าไปในร้าน PXs ซึ่งราคาขายสินค้าต่างๆ ในร้าน PXs นี้ จะมีตั้งราคาขายเท่ากับราคาที่ขายใน U.S.A, ก็อยากจะรู้เหมือนกันว่าแผ่นเสียง
6 แผ่นที่ว่านั่น ตอนนี้ยังจะมีชีวิตอยู่หรือไม่ และหากว่ายังอยู่ ใครกันที่เป็นผู้ครอบครอง?

หมายเหตุ : PXs คือร้านค้าของพวกทหาร J.I - U.S.A ที่มาตั้งฐานทัพในประเทศไทย เพื่อจะไปรบในประเทศเวียดนามในสมัยนั้น
และสำหรับสินค้าต่างๆ ที่ออกมาใหม่ๆ จากที่ U.S.A หากว่าเราต้องการก็ไม่ต้องรอให้เนินนาน เพราะทางร้าน PXs จะมีของเหล่านี้เร็วมาก เพราะสินค้าต่างๆ
จะมากับทหารอเมริกันที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย

ช่วงเวลาอันรุ่งโรจน์ของ Jim Croce โดยเป็นช่วงเวลาที่ Maury Muehleisen เข้ามา

ในปี 1970 โชคชะตานำพาให้ Jim และ Maury ได้มาพบกัน เขาเข้ากันได้ดีในทุกๆ เรื่อง
Tommy West เคยบอกกับ Jim ว่า... Maury เป็นเด็กหนุ่มที่เล่น Guitar ได้อย่างยอดเยี่ยม

ซึ่งขณะนั้น Maury Muehleisen ก็พึ่งออก Album โดยใช้ชื่อว่า "Gingerbread" แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ (เช่นเดียวกันกับ Jim Croce)
เพราะสาเหตนี้หรือเปล่า ที่ทำให้เขาทั้งสองคนได้เข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกันได้ดี และเมื่อเขาทั้งสองร่วมกันบรรเลงบทเพลง
จึงทำให้บทเพลงต่างๆ ที่ถูกเล่นออกมานั้น สามารถฝังลึกลงไปในใจของเราๆ ได้อย่างชนิด "หลงไหล อย่างบ้าคลั่ง" ได้เลยทีเดียว

ช่วงปี 1970 ในช่วงนี้เองที่ Jim Croce กำลังมองหา Guitar Back-up เพื่อทำเพลงในแนวดนตรี Acoustic Folk อย่างเช่นที่เขาเคยตั้งใจไว้
ผู้จัดการ (ค่ายเพลง Capitol Record) ของ Maury Muehleisen เป็นผู้ที่ได้ช่วยแนะนำ Maury Muehleisen ให้กับ Jim Croce และไม่นานนัก
เขาทั้งสองก็ได้ร่วมงานกัน (อย่างเอาจริงเอาจัง) และจะถือว่าเป็นโชคดีหรือโชคร้ายของชายที่ชื่อ "Maury Muehleisen" ที่ได้มาพบกับ Jim Croce
เพราะว่าไปแล้ว หาก Maury Muehleisen ไม่ได้มาพบ และร่วมงานกับ Jim ณ วันนั้น "September 20, 1973" เขาก็คงไม่ได้อยู่บนเครื่องบินลำนั้น
และเขาก็คงจะมีชีวิตอยู่จนถึงวันนี้ แต่นั้นล่ะครับ มันเป็นนานาจิตตัง เพราะหากคิดมุมกลับ Maury ก็อาจจะไม่เป็นที่รู้จักและเป็นที่กล่าว
ถึงเฉกเช่นในวันนี้ เขาคงจะเป็นแต่ผู้ชายคนหนึ่ง... ที่จากโลกไปอย่างไม่มีใครกล่าวถึง 

ซึ่ง ณ วันที่ Maury ได้เสียชีวิตลง เขามีอายุเพียง 24 ปีเท่านั้น

ผมเชื่อมั่นว่า หลายๆ คนที่รู้จักผลงานของ Jim Croce คงไม่ปฏิเสธกับฝีมือการบรรเลง Acoustic Guitar Line 2 ของ Maury Muehleisen แน่นอน
เพราะมันได้ช่วยส่งเสริมและสร้างสรรค์อารมณ์ ให้กับบทเพลงของ Jim Croce ได้อย่างน่าทึ่งมากทีเดียว และขณะเดียวกัน...
มันยังสร้างความลำบากให้กับผู้ที่คิดจะแกะเพลงของ Jim Croce เพราะความสมบูรณ์และความลงตัว ทั้ง Guitar 1 และ 2 ของเขาทั้งสองนั้น
มันเต็มไปด้วยพลัง, ความไพเราะ, ความสวยงามแห่งภาคดนตรีและบทเพลง แล้วมันอยากจริงๆ ที่เราคิดจะหลบหลีกหรือมองข้ามเส้นเสียง
หรือโน้ตตัวใดตัวหนึ่งของเขาทั้งสองไปได้ Tommy West บอกไว้ว่า Maury Muehleisen เป็นคนที่เล่น Acoustic Guitar ได้น่าเกรงขามมากๆ
เขาเป็นมือ Guitar ที่ดีมากคนหนึ่งเท่าที่เขาเคยเห็นมา

ความเป็นเพื่อนที่แสนดีต่อกัน มิตรภาพดีๆ ระหว่างเขาทั้งสองได้เป็นสิ่งสำคัญ ที่ได้ช่วยสร้างสรรค์งานเพลง และคู่หูทั้งสองอยู่เคียงข้างกัน
จนวินาทีสุดท้ายวินาทีที่เขาทั้งสองได้ลาจากโลกไป เขาทั้งสองก็ยังจากเราไปพร้อมๆ กัน หรือ...? "พระเจ้าคงจะรู้ดีว่า หากนำใครคนหนึ่งคน
ใดไปพียงลำพัง การบรรเลงเพลงในสรวงสวรรค์คงไม่สมบูรณ์"

ในปี 1972, Jim Croce และ Maury Muehleisen เขาทั้งสองได้ออก Album ร่วมกันเป็นครั้งแรก "You don’t mess around with Jim"
งานอัลบัมนี้ สำหรับเขาทั้งสอง มันคือความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่เป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นบทเพลงอย่าง You don’t mess around with Jim,
Time in a bottle, Operator (That’s no the way it feels), Box#10, Photographs and memories
และ New York’s not my home เป็นต้น
Single : You don’t mess around with Jim และ Operator (That’s no the way it feels) ประสบความสำเร็จในด้านยอดขายอย่างมาก
และด้วยบทเพลง 2 บทเพลงนี้ จึงทำให้อเมริกาชนที่หลงไหลเสียงเพลงในยุคนั้น ต่างก็รู้จัก Jim Croce 

ผลงานชุดนี้สามารถมียอดจำหน่ายได้มากกว่า 1 ล้านแผ่น และยังสามารถติดอันดับ No.1 Billboard’s chart of Bestselling LP’s อีกด้วย
หลังจากที่เขาได้ออกงานเพลงในชุดแรกได้ไม่นานช่วง January 1973 - Jim Croce ได้ออกงานชิ้นที่สองนั้นคือ "Life and Times" 

สำหรับผลงานชุด Life and Times เขาก็ยังคงประสบความสำเร็จมากมายเช่นเคย ไม่ว่าจะเป็นบทเพลงอย่าง One less set Footsteps,
Roller derby Queen, Dreamin’ Again, Alabama Rain หรือ These Dream ทุกๆ บทเพลง ล้วนแล้วแต่เป็นบทเพลงที่ประสบความสำเร็จทั้งสิ้น 

ผลงานเพลงของ Jim ยังคงได้รับความช่วยเหลือจาก Tommy west และ Terry Cashman ซึ่งทั้งสองคนยังคงเป็น Producer และร่วมร้อง
และเล่นเครื่องดนตรีให้กับ Jim Croce



อัลบั้ม "Life and Times" นอกจากจะประสบความสำเร็จด้านยอดขายแล้ว ยังได้รับรางวัลยอดขายสูงเกิน 2,000,000 แผ่นอีกด้วย
และในเดือน July 1973 บทเพลงอย่าง Bad Bad Leroy Brown ขึ้นถึงอันดับ 1 ใน Chart (Album นี้ออกเมื่อ January 1973) ส่วนตัวผู้เขียนแล้ว
ชุดนี้ถือเป็นงานสุด Classic จริงๆ ทุกๆ บทเพลงมีความโดดเด่น และแปลกแยกจากศิลปินอื่นๆ ที่ผลิตงานออกมา ณ ช่วงเวลานั้น
ถือได้ว่า Jim สร้างความแตกต่างได้อย่างยอดเยี่ยม 

และในปีเดียวกันนี้ เขายังได้ออกผลงาน "I got a Name" ออกมา โดยมีงานเพลงที่เราๆ คุ้นเคยกันอย่างดี เช่น I got a name, Lover’s cross,
I’ll have to say I love you in a song, และขณะเดียวกัน ยังได้นำเอาบทเพลง "Age" ซึ่งเป็นบทเพลงที่เคยทำร่วมกับ Ingrid ในปี 1969
มาปัดฝุ่นใหม่ได้อย่างน่าฟัง งานเพลงชุดนี้ Jim Croce เขียนเนื้อร้องเองเช่นเคย แต่มีอยู่ 2 บทเพลงคือเพลง "I got a name"
ที่เขียนโดยเพื่อนของเขา (Charles Fox และ Norman Gimbel) และเพลง "Salon Saloon" ที่เขียนโดย Maury Muehleisen

หลังจากบันทึกเสียงอัลบัม "I got a name" ได้เพียง 2 สัปดาห์ เขาก็ได้เสียชีวิตลง ผลงานอัลบัม I got a Name สามารถไตร่ขึ้นอันดับ
"No.2 Billboard’s chart of Bestselling LP’s" ซึ่งถือเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่อีกครั้งของเขา แต่ว่าเขาก็โชคร้ายที่ไม่มีโอกาสจะได้สัมผัส
กับความสำเร็จในครั้งนี้ได้ด้วยตัวเอง 

Jim Croce และ Maury Muehleisen ได้มีโอกาสออกแสดงตามสถานที่ต่างๆ หลังจากที่ประสบความสำเร็จจาก Album ทั้ง 3 ชุด
และสถานที่สุดท้าย ที่เขาทั้งสองได้มีโอกาสแสดงก็ คือที่ Northwestern State University, In Natchitoches Louisiana, September 20, 1973 

นอกจากที่ Jim Croce จะได้ผลิตผลงานเพลงที่ดีๆ ไว้ให้เราแล้ว สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนรู้สึกก็คือ "เขาได้ทิ้งความอาลัยอาวรณ์ และความสูญเสีย" 

หลังจากที่ Jim Croce เสียชีวิตลงในปี 1973 ต่อมาในปี 1975 Tommy West และ Terry Cash และ The Croce Family ได้ออก อัลบั้ม
"THE FACES I’VE BEEN" ซึ่งเป็นการรวบรวมบทเพลงของ Jim Croce ที่ยังไม่ได้ออกจำหน่ายมาก่อนหน้านี้ ซึ่ง Album ชุดนี้ ออกมาเป็นแผ่นคู่
รวมทั้งหมด 24 บทเพลง ซึ่งผมมั่นใจว่างานเพลงชุด "The Face I've been" คงจะมีบางเพลง หรือคงอาจจะมีหลายๆ เพลง ที่ท่านๆ อาจจะไม่เคยได้ยิน
ได้ฟังมาก่อน เพราะเพลงส่วนใหญ่นั้นจะไม่ได้ถูกนำไปร่วมอยู่ในผลงาน Greatest Hits ทั่วๆ ไป หากใครมีผลงานอย่าง The 50th Anniversary Collection
ก็อาจจะมีโอกาสฟังหลายๆ เพลงที่อยู่ใน "THE FAECS I’VE BEEN" นี้ 

Jim เป็นนักเขียนเพลงที่มักจะนำเรื่องราวที่ตัวเองประสบพบเจอ ในระหว่างการเดินทางของชีวิต มาเล่าลงสู่บทเพลงของเขา
หรือแม้แต่ในการแสดง Concert ในที่ต่างๆ Jim Croce ก็มักจะพูดคุยถึงเหตุการณ์ และเรื่องราวต่างๆ ที่เขาได้ประสบพบเจอ
ซึ่งบางเรื่องก็ทำให้ผู้ที่ฟังยิ้มและหัวเราะ กับเรื่องต่างๆ ที่เขาได้เล่าออกมา นี่จึงเป็นอีกจุดเด่นของเขา. Tommy West และหลายๆ คน
ต่างพูดกันเป็นเสียงเดียวว่า "Jim Croce เป็น Entertainer" (นักเล่าเรื่อง) ถ้าจะเปรียบเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ผู้เขียนก็คงต้องขออนุญาต
เปรียบเทียบกับศิลปินบ้านเรา ในทีนี้ผู้เขียน ขอยกตัวอย่างเช่น คุณพงษ์เทพ กระโดนชำนาญ ที่มีลักษณะใกล้ๆ เคียงอยู่พอสมควร
หรืออย่างคุณจรัญ มโนเพชร เป็นต้น

เขามักจะหยิบเรื่องราว ไม่ว่าจะเป็นช่วงชีวิตที่ต่อสู้ชีวิตอยู่ใน New York หรือช่วงชีวิตที่เขาได้ทำงานขับรถบรรทุกในเหมืองแร่ หรือช่วงที่
ทำงานในร้าน Car Wash Blues โดยเขาเคยได้นำมาถ่ายทอดลงในบทเพลง Workin’ at the Car Wash Blues (บ้านเราอาจเรียกประมาณว่า
ร้านล้างอัดฉีดรถยนต์นั้นล่ะ) หรืออย่างบทเพลง "New York’s not My Home" (Album : You don’t mess - around with Jim 1972) 

เขาพยายามเขียนบทเพลงนี้ ในขณะช่วงชีวิตที่อาศัยอยู่ใน New York บอกเล่าถึงความทุกข์ยาก โดยเขาได้บรรยายถึงบรรยากาศที่มีผู้คน
มากมาย แต่เหมือนว่าเราอยู่เพียงลำพังตัวคนเดียวอย่างเปลี่ยวเหงา มีบ่อยๆ ครั้ง ที่เขารู้สึกเสมอๆ ว่า New York ไม่ใช่บ้านของเขา
(คงจะด้วยความรู้สึกนี้ที่ทำให้ไม่นานนัก เขาจึงตัดสินใจย้ายตัวเองออกจาก New York) 

New York’s not my home สำหรับ Jim Croce เหมือนว่าเขากำลังพยายามที่จะบอกเราๆ ท่านๆ ว่า มันไม่ง่ายหรอกนะ กับการที่จะอยู่รอด
อย่างสุขสบายในมหานครเมืองใหญ่ 

"Operator (that’s not the way it feels)" บทเพลงที่สะกิดต่อมอารมณ์ของพนักงานโทรศัพท์ ประมาณว่าอยากจะโทรศัพท์ไปหาเขาคนนั้น
แต่ไม่กล้า พยายามที่จะกลบเกลื่อนความรู้สึกของตัวเอง ด้วยเหตุผลต่างๆ สุดท้ายก็ตัดใจและก็บอกกับ Operator ว่า ไม่ต้องต่อสายแล้วล่ะ
คุณเก็บเหรียญนี่ไว้เถอะนะ เพราะคงไม่มีใครที่คิดจะรับสายของผมแล้ว 

ไม่น่าเชื่อว่าบทเพลง Operator จะกลายเป็นบทเพลงยอดนิยมของ Jim Croce ไปในทันที และยังมีประโยคทองอย่าง "You can keep the dime"
ที่เป็นเสมือนสัญญาลักษณ์ หรือเครื่องหมายประจำตัวของ Jim Croce หากใครที่เป็นคนที่ชื่นชอบ Jim Croce และได้ติดตามเรื่องราวของเขามาบ้าง
ก็คงจะรู้ว่าประโยคนี้โดดเด่นมากถึงขนาดที่ Acoustic Guitar ที่ผลิตและจำหน่ายโดยบริษัท Martin Guitar ได้นำเอาประโยค
You can keep the dime มาใช้ ซึ่งบริษัท Martin ได้นำเอาเหรียญ (Dime) มาฝังติดที่ Finger Board 3 ของ Acoustic Guitar Model D21JC
ซึ่งกีต้าร์รุ่นนี้เป็นรุ่น Jim Croce : Signature ที่มีการผลิตอย่างจำกัดจำนวนของการผลิต

ในอัลบั้มและใน Concert นอกจากเราจะเห็น Jim Croce ใช้ Acoustic Ovation แล้ว เราก็มักจะเห็น Jim Croce ใช้ Acoustic Guitar Martin
ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อปี ค.ศ. 2000 บริษัท C.F. Martin จึงได้ผลิต Acoustic Guitar : Special Edition Jim Croce Model D21JC/ D21JCB
ออกมาจำหน่าย ซึ่งผลิตมาแค่เพียง 73 ตัวเท่านั้น แบ่งเป็นการผลิตจากไม้ Brazilian และ Indian Rosewood 

Operator (that’s not the way it feels) ได้รับความนิยมอย่างมาก และยังมีอีกหลายๆ บทเพลงที่เขาได้พูดถึงช่วงเวลาของการใช้ชีวิต และการ
ทำงาน ตัวอย่างเช่นบทเพลงอย่าง Age, I got a name, Hard way every time, Alabama rain, Speed ball tucker หรือแม้ในเรื่องของความรัก
Jim Croce ก็ยังสามารถถ่ายทอด บอกเล่าถึงอารมณ์ของความสมหวัง ความผิดหวัง และความประทับใจได้ไพเราะ และน่าประทับใจไม่แพ้กัน 

เช่น บทเพลงอย่าง "Time in a bottle" ที่บ้านเรานำเอาทำนองบทเพลงนี้มาแปลเป็นภาษาไทยแต่ยังคงทำนองเดิมอยู่ โดยใช้ชื่อเพลงเป็น
ภาษาไทยว่า "เวลาในขวดแก้ว" และยังมีอีกมากมายหลายบทเพลงที่น่าสนใจ เช่น I’ll have to say I love you in a song (เคยถูกเอาทำนอง
มาใช้กับเพลงไทยเช่นกัน), Dreamin’ again, These dream, Lover’s cross , It’s don’t have to be that way, Photograph and memories,
Long time ago, Next time This time, Alabama rain เป็นต้น

หลังจากที่ Jim Croce ได้เสียชีวิตลง ได้มีการนำผลงานของ Jim Croce มารวบรวมเป็น Album - BEST OF หรือ GREATEST HITS
นับครั้งไม่ถ้วน เรียกว่า เขาเป็นศิลปินคนหนึ่งที่ถูกหยิบผลงานมารวบรวมครั้งแล้วครั้งเล่ามากมาย แต่ที่เราๆ คุ้นเคยมาที่สุด
ก็คิดว่าน่าจะเป็น Greatest Hit ที่ใช้ชื่อว่า Photograph and memories สำหรับงานรวมฮิตแผ่นนี้ ช่วงหนึ่งเคยนำเข้ามาจำหน่ายในบ้านเรา
แต่ช่วงหลังๆ จะค่อนข้างหายากทีเดียว 

แต่สำหรับผู้เขียนนั้น จะรู้สึกประทับใจกับผลงาน Album Greatest Hit ที่ใช้ชื่อว่า THE 50TH ANNIVERSARY COLLECTION :
by SAJA RECORDS เพราะได้รวบรวมผลงานเพลงของเขาเกือบทั้งหมด โดยจัดทำเป็น 2 CD นับเป็นครั้งแรกๆ ของการรวบรวมผลงานเพลง
ของ Jim Croce  ที่มีการรวบรวมบทเพลงไว้มากถึง 49 บทเพลง

หากว่า... ตำนานจะหมายถึงการบันทึก การจดจำการกล่าวขาน ถึงเรื่องราวต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้น 
ด้วยความรู้สึกในมุมที่ดีและน่าประทับใจ อย่างต่อเนื่องและยาวนาน 

ผมก็ไม่รู้สึกว่าจะเกินเลย หรือมากไป กับการที่จะกล่าวว่า "ชายไว้หนวด เส้นผมหยักและคาบซิก้า ที่ชื่อ "Jim Croce" 
จะคือ "ตำนานบทหนึ่ง ที่ทรงคุณค่า" ของวงการเพลงโฟล์ค ที่จะยังคงอยู่ในโลกนี้ตลอดไป

และผู้เขียนเชื่อว่าบทเพลงของ Jim Croce จะไม่มีวันสูญหายไปจากโลกใบนี้ เท่าที่โลกใบนี้ยังคงมีเสียงเพลง

I will always remember you Jim Croce!

เขียน/เรียบเรียงโดย ทีมงานอะคูสติกไทย (www.Acousticthai.Net)