ส่วนประกอบกีตาร์โปร่ง (Guitar Parts)

ทุกๆ ส่วนของกีตาร์ มีความสำคัญทั้งสิ้น มากและน้อย แตกต่างกันออกไป
บางส่วนมีอิทธิผลต่อเสียงกีตาร์ แต่บางส่วน อาจจะไม่มีผลต่อเสียงกีตาร์เลย แต่มีความสำคัญเช่นกัน

ผู้เล่นกีตาร์บางท่าน เมื่อซื้อกีตาร์ไปใช้งาน อาจจะมีการปรับเปลี่ยนส่วนประกอบ บางชิ้นของกีตาร์
เพื่อให้ได้ส่วนประกอบที่มีคุณภาพมากขึ้น ถือเป็นเรื่องปกติที่ทำได้ เช่น การเปลี่ยนสายกีตาร์ ลูกบิด รวมไปถึง nut และ saddle เป็นต้น

เรามาทำความรู้จักส่วนประกอบของกีตาร์ ที่สำคัญๆ กัน

1. หัวกีตาร์ (HeadStock)
หัวกีตาร์ไม่มีผลต่อด้านเสียง แต่มีผลเรื่องความแข็งแรง เพื่อรับแรงดึงของสายกีตาร์ โดยแบ่งได้เป็น 2 ประเภท
คือ solid head หรือกีตาร์หัวตันๆ และ slotted head หรือกีตาร์หัวที่มีการเซาะร่องตรงกลาง
(
นิยมใช้กับกีตาร์ classic หรือกีตาร์สายไนล่อน) ทั้งสองแบบต่างกันแค่ design ส่วนความแข็งแรง ไม่ต่างกัน

2. ลูกบิด (Tuning Machines)
มีความสำคัญมาก หากเจอะคุณภาพแย่ๆ จะส่งผลทำให้สายกีตาร์เพี้ยนบ่อยๆ อันเกิดจากการคลายตัวได้ง่าย
ลูกบิดที่ดี จะต้องมีความ smooth หรือ นุ่มนวลเมื่อเวลาที่บิดหมุนเพื่อขึ้นสาย ความแม่นยำ คุณภาพของการล็อคสาย ต้องดี
สิ่งเหล่านี้เกิดจากความละเอียดของเฟือง หรือ Gear ที่มีความละเอียดสูง ระดับราคาของชุดลูกบิด มีตั้งแต่ หลักร้อย ไปถึงหลายพันบาท

3. คอกีตาร์ (Neck)
คอกีตาร์ นิยมใช้ไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้ Mahogany, Sapele และ Maple เป็นต้น
คอกีตาร์ ยังมีแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ไม้ชิ้นเดียว กับ ไม้หลายชิ้น (ตามภาพด้านบน)
กีตาร์บางยี่ห้อ ทำคอ 3 ชิ้น หรืออาจจะไปถึง 5 ชิ้น เลยทีเดียว
ตัวอย่างเช่น คอไม้หลักใช้ไม้ Mahogany แล้วเสริมด้วยไม้ Maple, Rosewood หรือ Ebony เข้าไป (เห็นเป็นเส้นแซมขนานไปกับคอ)
วิธีการหรือเทคนิคนี้ นิยมใช้ในกีตาร์ระดับราคาสูงๆ เนื่องจากมีความซับซ้อนในการทำ และยังเสียเวลากับการทำเพิ่มขึ้น

ในสมัยโบราณ คอกีตาร์จะทำเป็นไม้ชิ้นเดียวทั้งหมด แต่เมื่อผู้สร้างกีตาร์ ได้พบปัญหา เรื่องคอกีตาร์ ที่อาจจะมีการบิด โกง โค้ง ฯลฯ
ปัจจัยจากกีตาร์ที่ถูกใช้งานไปนานๆ อาจมีความเสื่อม หรืออาจเพราะสภาพอากาศ ที่มีผลมากกับเรื่ององศาของคอกีตาร์ ที่อาจจะเพี้ยนไป
ผู้สร้างกีตาร์บางยี่ห้อ จึงได้เริ่มทำคอกีตาร์แบบไม้หลายชื้นประกบกัน โดยการนำเอาไม้ต่างชนิดมาประกบ
เพื่อให้เกิดการเหนี่ยวรั้ง ยึดโยงซึ่งกันและกัน ทำให้การบิด โกง โค้ง ฯลฯ เกิดขึ้นได้ยาก

แต่กีตาร์โปร่งบางยี่ห้อ ยังคงลักษณะการทำคอกีตาร์ ด้วยไม้ชิ้นเดียว ในแบบยุคโบราณดั้งเดิม “Traditional Style” เอาไว้ ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่ง

นอกจากนั้น คอกีตาร์ยังมีความหนา และความกว้าง ยังมีรูปแบบ หรือ Shapes ต่างกันออกไป ตามแต่สไตล์ของกีตาร์ ยี่ห้อนั้นๆ
เช่น คอแบบ C shapes หรือแบบ V shapes เป็นต้น ส่วนแบบไหนจะเหมาะกับผู้เล่น เรื่องนี้ไม่สามารถตอบได้ เพราะสัดส่วนหรือขนาดของมือ
ของผู้เล่นกีตาร์แต่ละท่าน ไม่เท่าทัน บางท่านเมื่อเล่นคอ C shapes จะรู้สึกเข้ามือดี จับได้ถนัด แต่ เมื่อมาเล่นกีตาร์ V Shapes กลับรู้สึกไม่ถนัด
ดังนั้น ก่อนที่จะซื้อกีตาร์สักตัว ท่านอาจจะต้องลองจับคอกีตาร์ให้แน่ใจว่า คอกีตาร์ตัวนั้น เข้ามือของท่านหรือไม่
แต่โดยส่วนใหญ่ คอประเภท C shapes จะเข้ามือได้ดีกว่า V Shapes ในเรื่องความกว้างของคอ(Neck Width) คือวัดจากระยะกว้างที่เฟรต(Fret) 1
ที่นิยมกันมากคือ ความกว้างขนาด 1-11/16″ นิ้ว คออีกขนาดที่นิยมลองลงมาคือ ความกว้างขนาด 1 3/4″ นิ้ว
ซึ่งจะเหมาะกับการเล่นแบบ Finger Style ที่จะต้องใช้พื้นที่ตรงคอเยอะๆ เพราะ จะต้องเล่นโน็ตเป็นตัวๆ มากกว่าที่จะจับเป็นรูปคอร์ด

4. ฟิงเกอร์บอร์ด (Fingerboard)
เป็นส่วนที่ใช้รับแรงกดของสายกีตาร์ นิยมใช้ไม้เนื้อแข็ง เช่น Rosewood หรือ Ebony เป็นต้น

5. Fret (เฟรต)
เป็นแท่งเหล็กคล้ายๆ เส้นลวด ที่มีความแข็งแรง วางขนานเป็นระยะๆ ไปกับ Fingerboard กีตาร์ทรงมาตรฐานทั่วไป จะใช้เฟรต(Fret) ทั้งหมด 20 Fret

6. Body Shapes (รูปร่าง หรือ ขนาด ลำตัวกีตาร์) และ ไม้ที่ใช้ทำตัวกีตาร์
ปัจจุบันขนาด และรูปแบบของตัวกีตาร์ จะมีหลายๆ แบบ เรียกต่างกันออกไป เช่น กีตาร์ทรง Dreadnought(D), Orchestra Model(OM), 00, 000,
Grand Concert(GC) , Crand Auditorium(GA) , Parlor
และ Jumbo เป็นต้น
กีตาร์แต่ละขนาด หรือ แต่ละรูปทรง เหมาะกับการเล่นในสไตล์ที่ต่างกันออกไป เช่น
กีตาร์ทรง D เหมาะกับการเล่นแบบตีคอร์ดที่สุด, กีตาร์ทรง OM เหมาะกับการเล่นแบบ Finger-Picking มากที่สุด
อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดขึ้นอยู่กับผู้เล่นด้วยว่า ต้องการได้ยินเสียงกีตาร์แบบใด…?
เช่น กีตาร์ทรง OM แม้จะเหมาะที่สุดกับการเล่นแบบ Finger Picking แต่หากผู้เล่นต้องการได้ยินเสียงกีตาร์ที่หนาๆ ใหญ่ๆ เสียง bass ลึกๆ นุ่มมากๆ
ก็อาจจะเลือกใช้กีตาร์ทรง D ก็ไม่ถือว่าผิด เรียกว่า กีตาร์ทุกๆ body shapes สามารถเล่นได้ทุกๆแนว แม้อาจจะไม่เหมาะกับบางแนว(ตามหลักการ)
แต่ในการใช้งานจริง ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้เล่นเป็นสำคัญ ดังนั้น ให้ยึดความชอบของผู้เล่นเป็นสำคัญ (มากกว่าจะยึดติดกับหลักการ)

สำหรับไม้(wood) ที่ใช้ทำตัวกีตาร์(body) นั้น มีความสำคัญเป็นลำดับแรกๆ เพราะมันคือแหล่งกำเนิดเสียง กีตาร์เสียงจะดี หรือไม่นั้น
ขึ้นอยู่กับส่วน body เป็นสำคัญที่สุด, ไม้(wood) ที่ใช้ประกอบทำตัวกีตาร์ แบ่งได้เป็น 3 ส่วน คือ ไม้ส่วนหน้า(top) ไม้ส่วนหลัง(back)
และ ไม้ส่วนข้าง(side) โดยประเภทของไม้จะแตกต่างกันออกไป
เช่น ไม้ส่วนหน้า(top) จะใช้ ไม้เนื้ออ่อน เพราะไม้สามารถสั่นตัวได้ง่าย ยิ่งไม้หน้าสั่นตัวได้ดีเท่าไร เสียงที่ได้ก็ย่อมมีความละเอียดอ่อน และดีมากขึ้นเท่านั้น
ไม้ส่วนหลังและข้าง(back & side) ทำหน้าทีรับการสะท้อนของเสียงที่ส่งมาจากไม้หน้า ส่วนนี้จะต้องมีความแข็งแรงเพื่อสะท้อนเสียงได้ดี จึงนิยมใช้ไม้เนื้อแข็ง
ผู้สร้าง/แบรนด์กีตาร์หลายๆยี่ห้อ ต่างให้ทฤษฎีไว้ตรงกันว่า ไม้หน้า(top) มีผลต่อเสียงสูงถึง 70-80% เลยทีเดียว
ท่านสามารถอ่านเรื่องไม้ต่างๆ ได้ที่ เรื่องไม้หน้า-> http://acousticthai.net/top_tonewoods.html
เรื่องไม้ข้างและหลัง -> http://acousticthai.net/guitar_back_side_tonewoods.html

นอกจากประเภทของไม้แล้ว ยังมีเรื่องของเทคนิคการประกอบไม้ในการทำตัวกีตาร์ อีกด้วย
ซึ่งกีตาร์โปร่ง ทั่วไป จะแบ่งเทคนิคการประกอบ ได้ 2 ประเภท คือ solid wood และ laminate wood
หลายท่านเรียกติดปากไปว่า ไม้จริง ที่ให้คำจำกัดว่า คือไม้ solid” ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าจะ solid หรือ laminate ก็ล้วนเป็นไม้จริง ทั้งนั้น
แต่ solid และ laminate เป็นเรื่องวิธีการของการผลิต/ประกอบ เท่านั้นเอง ซึ่ง solid และ laminate อธิบายได้ดังนี้
1. Solid wood
คือการนำไม้แผ่นเดียวทั้งแผ่น มาประกอบเป็นส่วนของกีตาร์ เช่น top solid, side solid หรือ back solid
2. Laminate wood
คือการนำไม้สองแผ่น (แต่ละแผ่นจะมีความบาง โดยเฉพาะแผ่นชั้นนอก) หรือสามแผ่น มาประกบเข้ากัน
ท่านสามารถอ่านเรื่อง solid wood กับ laminate wood ได้ที่ลิ้งนี้ –> http://acousticthai.net/solid-laminate-guitar.html

7. Bracing (โครงสร้างภายใน)
เมื่อมองผ่านๆ หลายท่านอาจจะคิดว่าไม่สำคัญ แต่ความจริงแล้ว Bracing แม้จะทำหน้าที่เป็นโครงสร้างสำหรับยึดค้ำไม้หน้าเพื่อให้แข็งแรง
แต่อีกหน้าทีหนึ่งคือ เป็นตัวกำหนดทิศทางของเสียงกีตาร์ ให้มีความหนา ความบาง ความก้องกังวาน อีกด้วย
Braicng
ถูกพัฒนามายาวนานกว่า 100 ปี ในยุคแรก กีตาร์ยังเป็นสายไนล่อน(nylon strings) โครงสร้างแรกที่เกิดขึ้นคือ “Ladder Bracing”
โดยการนำไม้มาเรียงๆกัน ต่อมาได้เกิดกีตาร์สายเหล็ก(steel strings) ขึ้น กีตาร์สายเหล็กนั้น มีแรงดึงของสาย ที่มากขึ้นกว่ากีตาร์สายไนล่อน มาก
จึงเกิดการพัฒนา Bracing ให้มีความแข็งแรงมากขึ้น ในช่วงปี 1840-1845 คือช่วงเวลาที่ Bracing ได้รับการพัฒนาที่ลงตัว เรียกว่า “X-Bracing”
(
คิดค้นและพัฒนาโดยบริษัท Martin Guitar) ถือเป็นโครงสร้าง ที่สมบูรณ์แบบที่สุด และปัจจุบันยังคงเป็นที่นิยมสูงสุด อย่างต่อเนื่องยาวนาน
ท่านสามารถอ่านเรื่อง Bracing ต่อได้ที่–> http://acousticthai.net/guitar-bracing.html

8. Nut & Saddle
ส่วนประกอบเล็กๆน้อยๆ นี้ มองข้ามไม่ได้เช่นกัน แม้ส่วน Nut อาจจะไม่ได้มีผลต่อเสียงมาก หรือ อาจจะเรียกได้ว่า ไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างได้
แต่ส่วนของ Saddle กลับมาผลต่อเสียงมากพอสมควร สามารถฟังความแตกต่างได้มากกว่า เนื่องจากเป็นส่วนที่ต้องรับแรงสั่นของสายกีตาร์โดยตรง
ส่วนใครจะฟังออก หรือ แยกแยะได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับทักษะความสามารถ ประสบการณ์อันเป็นส่วนตัวของแต่ละคน

Nut & Saddle นั้น มีหลายวัสดุ แบ่งเกรดคุณภาพได้ตามระดับราคา เช่น saddle เกรดถูกๆ ราคาจะประมาณไม่เกิน 100 บาท
คุณภาพดีขึ้นมาสักนิด ราคาจะประมาณ 100-200 บาท แต่ saddle เกรดดีมากๆ คุณภาพเยี่ยมๆ ราคาจะประมาณ 500 บาทขึ้นไป

saddle คุณภาพดีๆ ส่วนใหญ่จะเป็นพวก tusq คือ วัตถุสังเคราะห์ชนิดพิเศษ ซึ่งเป็นที่นิยมมาก
อีกวัตถุหนึ่งที่นิยมไม่แพ้กันคือ saddle ที่ทำมาจากกระดูกสัตว์ ในสมัยก่อนทำจากงาช้าง แต่ปัจจุบันแทบไม่มีให้เห็น เนื่องจากเป็นสิ่งผิดกฎหมาย
แต่ปัจจุบัน จะใช้กระดูกจากสัตว์อื่นๆ เช่น กระดูกควาย กระดูกวัว หรือ แข้งม้า เป็นต้น ดังนั้น saddle กระดูกก็มีหลากหลายคุณภาพ

จะรู้ได้ไงว่า saddle นั้นดีมากน้อยแค่ไหน? saddle ที่ดี จะต้องมีความแน่น มีน้ำหนักมาก อาจจะทดสอบได้ด้วยการ โยนลงพื้น
เสียง saddle ที่กระทบลงบนพื้น จะได้ยินเสียงที่แน่นๆหนาๆ แสดงถึงความมีน้ำหนัก หรือมีความแน่นของวัตถุ

แต่หากได้ยินเสียงบางๆ เบาๆ เมื่อ saddle กระทบลงบนพื้น แสดงว่า น้ำหนักของ saddle มีน้อย หมายถึงคุณภาพของ saddle นั้น จะน้อยไปด้วย

ยี่ห้อของ Nut , Saddle ที่นิยมใช้กัน ผู้เขียนขอแนะนำยี่ห้อ graphtech ครับ (วัสดุที่เรียกว่า tusq)
ท่านสามารถอ่านเรื่อง Bracing ต่อได้ที่–> http://acousticthai.net/saddle-guitars.html

9. Bridge (สะพานสาย)
ทำหน้าที่ยึดแรงดึงของสายกีตาร์ ที่ติดตั้งอยู่บน body guitar ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง
เช่น Rosewood, Ebony เป็นต้น Bridge ของกีตาร์โปร่งกับกีตาร์ Classic จะแตกต่างรูปแบบกันออกไป

10. Neck Joint หรือส่วนต่อระหว่างคอกีตาร์ กับ ตัวกีตาร์
ในสมัยเก่าดั้งเดิมนานมากแล้ว จะใช้การต่อคอ แบบทีเรียกว่า “dovetail” โดยใช้กาวเป็นตัวเชื่อมประสานระหว่างคอ กับ ตัวกีตาร์
มองเหมือนรูปตัว V ขึ้นรูปเป็นสลัก แล้วต่อประสานเข้าหากัน มีความแข็งแรงสูง ที่สำคัญคือ ให้น้ำหนักที่เบา ส่งผลให้กีตาร์มีน้ำหนักตัวที่เบา
ต่อมา มีปัญหาว่า เมื่อกีตาร์ถูกใช้งานไปหลายๆปี อาจจะเกิดอาการคอยก หรือไม่ได้องศาที่ถูกต้อง ทำให้ action(ความสูงระหว่างสายกีตาร์กับเฟรต)สูง
ส่งผลให้เวลาเล่น คือจังหวะที่เรากดนิ้วลงบนเฟรต หรือ fingerboard นั้น ทำได้ยาก เล่นแล้วรู้สึกเจ็บนิ้ว
ดังนั้น จึงต้องมีการปรับองศาคอ การต่อคอแบบโบราณ “dovetail” นั้น เมื่อต้องการจัดองศาคอ จะต้องทำการละลายกาวสะก่อน
จึงเป็นงานที่ยุ่งยากมาก ดังนั้น จึงเกิดการต่อคอกีตาร์ แบบใหม่ ที่เรียกว่า “Bolt-On” โดยใช้เทคนิคการ ใช้น็อตยึด
ทำให้การปรับองศาคอทำได้ง่ายขึ้น (ไม่ต้องละลายกาว ทำแค่ขันน๊อต) แต่ข้อเสียคือ ทำให้กีตาร์มีน้ำหนักมากขึ้น

11. Truss-Rod (แท่งเหล็กดามคอกีตาร์)
เป็นที่ทราบกันว่า แรงดึงของสายกีตาร์โปร่งนั้น มีสูงมาก (ยกเว้น กีตาร์สายไนล่อน หรือ Classic Guitar ที่จะไม่นิยมใส่ truss-rod เนื่องจากแรงดึงไม่มาก)
คอกีตาร์ ทำจากไม้ ซึ่งมีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะช่วงที่ต้องเจอะกับอากาศที่เปลี่ยนแปลง ไม้จะเปลี่ยนปรับองศา ไปตามสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป
การบิด การโก่ง การงอ ฯลฯ ของคอกีตาร์ เป็นสิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่ ดังนั้น เพื่อทำให้คอ(neck) กีตาร์มีความแข็งแรงมากขึ้น
จึงมีการใส่ tuss-rod หรือ เหล็กดามคอกีตาร์ ไว้ในคอกีตาร์ เพือเสริมความแข็งแรง และ นอกจากมันจะช่วยเรื่องความแข็งแรง มันยังช่วยทำให้ผู้เล่น
สามารถปรับแต่งองศาของคอกีตาร์ ได้อีกด้วย โดยวิธีการง่ายๆ แค่เพียง ใช้เหล็ก 6 เหลี่ยม เท่านั้น
ท่านสามารถอ่านเรื่องการจัดปรับแต่งองศาคอกีตาร์ ต่อได้ที่–> http://acousticthai.net/acoustic_guitar_setup.html

12. Finishes (ส่วนของการเคลือบผิวกีตาร์)
การเคลือบผิวกีตาร์ ทำเพื่อป้องกัน รอย/ความเสียหาย จากการขูด กระแทก หรือ อากาศจากภายนอก(ความร้อน ความชื้น)
การเคลือบผิวกีตาร์ แบ่งได้หลักๆ 2 ประเภท คือ Gloss Finish การเคลือบแบบหนา จะมีความมันเงา, กับ Stain Finish การเคลือบแบบบางๆ ดูด้านๆ
การเคลือบหนา จะช่วยปกป้องเรื่องอากาศความชื้นความแห้งของอากาศได้ดีมาก และยังช่วยป้องกันริ้วรอยต่างๆ ได้ดีมาก
ส่วนการเคลือบบาง ต้องดูแลมากเป็นพิเศษ แต่ดีตรงที่ ไม้สามารถสั่นตัวได้ดี ทำให้ไม่เป็นอุปสรรค์ต่อเสียงกีตาร์ที่จะก้องกังวานออกมา

ปัจจุบัน การเคลือบผิวที่นิยม จะใช้วิธีการ Nitrocellulose (แลกเกอร์) กับ Polyurethane หรือ Polyester (เรียกอีกอย่างว่า ยูเรเทน)
เป็นที่นิยมกันมานาน Finish แบบนี้ เริ่มต้นทำกันมาตั้งงแต่ช่วงต้นปี 1920 แต่ปัญหาของมัน คือ ความหนา
เพราะหากทำการเคลือบผิว หรือ Finish ที่หนาเกินไป จะทำให้ไม้หน้ามีปัญหาในการสั่นสะเทือนของไม้ ทำให้เสียงแข็ง ไม่มีความนุ่มนวล

การเคลือบแบบ Nitrocellulose มีข้อดีที่ มีความยึดหยุ่น ส่งผลดีให้กับกีตาร์ ทำให้ไม้สั่นตัวได้ง่าย
ซ่อมแซมได้ง่าย แต่ว่าไม่ทนต่อแสงแดด หรือแสง UV คือเมื่อเจอะ UV มากๆ ไม้จะเหลืองๆ จางๆ ไปตามวันเวลา

สังเกตว่า ทำกีตาร์ตอนซื้อมาแรกๆ หน้าไม้มันขาวๆ แต่พอผ่านไปหลายๆ ปี ไม้มันเริ่มเหลืองๆ นั่นเพราะเหตของแสง UV ที่มีผลต่อผิวเคลือบ นั่นเอง

ส่วนการเคลือบแบบ Polyurethane หรือ Polyester มีข้อดีตรงที่ความทนทานของมัน
จึงมีผลดีต่อการป้องกันริ้วรอยการใช้งานต่างๆ เช่น รอยขนแมว การกระแทก การขูดขีด ได้ดี นอกจากนี้แล้ว ยังมีเทคนิคการเคลือบแบบอื่นๆ อีกหลายแบบ

พอจะสรุปเนื้อหา ส่วนประกอบกีตาร์ แบบกว้างกันได้พอสมควรนะครับ
ดังนั้น หากจะซื้อกีตาร์โปร่ง สักตัว การนึกถึงเรื่องส่วนประกอบต่างๆ ว่าเหมาะกับเรา หรือ เราจะชอบหรือไม่ นั้น
ก็ถือเป็นประโยชน์อยู่ไม่มากก็น้อย ครับแล้วพบกันใหม่ ในบทความต่อๆ ไปครับ

เขียน/เรียบเรียงโดย ทีมงาน AcousticThai.Net