Bread... ขนมปังที่ไม่มีวันหมดอายุ !?And Aubrey was her name, A not so very ordinary girl or name but who's to blame For a love that wouldn't bloom, For the hearts that never played in tune... ใครที่เป็นคอเพลงยุค 70' ผมเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า แทบไม่มีใครไม่รู้จักคณะ "Bread" บางท่านรู้จักคณะนี้ ผ่านบทเพลง If, Make it with you, Diary, The guitar man หรือไม่ก็เพลง Baby I'm a want สำหรับผมนั้น... ได้มีโอกาสรู้ัจักคณะนี้ผ่านบทเพลง "Aubrey" เป็นบทเพลงแรกๆ ผมเชื่อมั่นว่า ใครก็ตามที่ชมชอบการเล่น Acoustic Guitar เมื่อหากได้ลองฟังบทเพลงอย่าง "Aubrey" หรือบทเพลงอย่าง "IF" ก็คงจะเกิดแรงบันดาลใจ และอยากที่จะหยิบกีต้าร์โปร่งขึ้นมาแกะเพลงเหล่านี้ ด้วยเนื้อหาของบทเพลง ด้วยมนต์เสน่ห์ของเมโลดี้ จึงไม่แปลกหากใครจะ เกิดความหลงไหล หรือตกหลุมรักให้กับบทเพลงของ "Bread" ผมเองก็เป็นคนหนึ่งในนั้น! วงดนตรีในแบบฉบับป๊อปร๊อคที่มีความเป็นอะคูสติคผสมผสาน จะมีสักกี่วงที่จะสามารถทำได้ดีเช่น Bread, บางท่านอาจจะนิยามสไตล์การเล่นของ Bread ว่าเป็นดนตรีในแบบ Folk rock หากท่านเป็นคนหนึ่งที่ชื่นชอบบทเพลงของ Bread ผมก็เชื่อว่า ท่านคงมีนิยามให้กับดนตรีของ Bread เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จุดเริ่มต้น... และที่มาที่ไปของการกำเนิดคณะ "Bread" ได้เริ่มมาจาก...
David Gates เป็นบุตรชายของครูสอน Piano พ่อของเขาเป็นผู้ที่มีสายเลือดแห่งนักดนตรีสูงมากคนหนึ่งของอเมริกันชน เพราะนอกจาก เป็นครูสอน Piano แล้ว พ่อของเขายังเป็นนายวง (Conductor) ให้กับวงดนตรีใหญ่ๆ มาหลายต่อหลายวง David Gates เกิดเมื่อ December 11, 1940 ที่ซึ่งเป็นเมืองชนบทเล็กๆ ณ Tulsa, Oklahoma และต่อมาครอบครัวเขา ก็ได้ย้ายมาอยู่ ที่ Los Angles ในช่วงต้นปี 1960 David Gates เป็นเด็กหนุ่มที่มีพรสวรรค์ในเรื่องดนตรีเป็นอย่างมาก เขามีโอกาสได้เข้ามาทำงานทางด้านดนตรี
โดยรับบทในฐานะนักแต่งเพลง และยังเป็น Producer ให้กับคณะ The Mermaids และอีกหลายๆ วงที่ดังๆ ในช่วงปี 1963 ซึ่งในตอนนั้น เขามีอายุเพียง 23 ปีเท่านั้น ความฝันของเขาเป็นจริงด้วยเวลาอันรวดเร็ว และนี่ก็คือสิ่งที่ไม่อาจจะปฏิเสธในฝีไม้ลายมือทางด้านดนตรีที่มีอยู่ในตัวของเขาได้ ! ชีวิตเขาก็น่าจะมีความสุขกับการทำงานที่เขารัก ซึ่งงานที่เขาทำก็ประสบกับความสำเร็จดีมาก แต่ David Gates ก็เริ่มรู้สึกเบื่อหน่ายกับการทำงานเบื้องหลัง ต่อมาไม่นานนัก David Gates มีโอกาสได้รู้จักกับ James Griffin ผู้ซึ่งมีอะไรคล้ายๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นนิสัยใจคอ หรือแม้แต่ลักษณะของครอบครัว ซึ่งด้วยเหตุนี้ จึงทำให้เขาทั้งสองเข้ากันได้ดี และเริ่มก่อความฝันขึ้นพร้อมๆ กัน และนี่ก็คือ... จุดเริ่มต้นของคณะ "Bread" ต่อมาในปี 1968 David Gates, James Griffin และ Robb Royer (เพื่อนของ James Griffin)
เขาทั้งสามคนร่วมกันทำ Album โดยใช้ชื่อวงเป็น ชื่อเดียวกันกับอัลบัม นั่นคือ "Bread"
โดยที่พวกเขาทั้งสามคนได้เป็นผู้ที่ช่วยกันกำหนดทิศทางของบทเพลง และแนวดนตรีเอง ดังนั้น เขาทั้งหมดจึงทำหน้าที่ Producer เอง โดย ใช้ชื่อคณะว่า "Bread" กับการเริ่มต้น... ด้วยการนำผลงานเพลงจำนวน 12 เทรคไปเสนอกับค่าย Elekta และได้ตกลงเซ็นสัญญากับค่าย Elektra ในเวลาต่อมา ผลงานอัลบัม "Bread" ได้ออกวางจำหน่ายครั้งแรกเมื่อ January 1969 ซึ่งประสบความสำเร็จได้ไม่ดีอย่างที่เขาตั้งใจไว้ เพลงของพวกเขา เป็นแบบ Pop Rock ที่มีการผสมผสานดนตรีแบบ Acoustic เข้าไปในท่วงทำนองของบทเพลง และมีการนำลายประสานเสียงในแบบฉบับ Trio มาใช้อีกด้วย และแม้ว่าผลงานอัลบัมแรกสำหรับพวกเขาจะไม่โดดเด่น หรือไม่ประสบกับความสำเร็จอย่างที่เขามุ่งหวังไว้... แต่สำหรับบทเพลง Pop Rock ชั้นดีอย่างเช่น "Dismal day" และเพลงอย่าง "It don’t matter to me" ก็ทำให้คณะ Bread เป็นที่รู้จักได้มาก พอสมควรทีเดียว สำหรับผมแล้ว... บทเพลง Dismal day นับเป็นบทเพลง Pop Rock ที่ยอดเยี่ยมมากๆ เพลงหนึ่งของ Bread, ไม่ว่าจะเป็นเสียงประสานในแบบ Trio และความหนักแน่นของภาคดนตรี หรืออย่างบทเพลง Any way you want me, Could I, หรืออย่าง London Bridge ก็นับเป็นบทเพลงที่น่าสนใจมาก ด้วยมนต์เสน่ห์ของเมโลดี้ การปรสานเสียง และโดยเฉพาะเทคนิคการร้องของ David Gates ย้อนกลับไปยังการก่อกำเนิดชื่อ Bread... ครั้งแรกก่อนที่จะออกผลงานอัลบัม "Bread" ในปี 1969 นั้น ทั้ง David Gates, James Griffin และ Robb Royer ยังนึกไม่ออกว่าจะใช้ชื่อวง และชื่อ Album ว่าอะไรดี? จนกระทั่งคืนหนึ่ง พวกเขาขับรถวกไปวนมาใน L.A. ในขณะที่ขับรถอยู่นั้น เขาเห็นรถบรรทุกคันหนึ่งที่วิ่งอยู่ด้านหน้า มีตัวอักษรเขียนอยู่ตรงไฟห้ามล้อ (stoplight) ว่า "Barbara Ann Bread" พวกเขาจึงตัดสินใจที่จะใช้ชื่อวงของพวกเขาว่า "BREAD" ในทันที และในขณะเดียวกันเขาก็ใช้ชื่อ Bread เป็นชื่ออัลบัมแรกของเขาด้วย
Bread ออกผลงานชุดที่สองในปี 1970 โดยใช้ชื่อว่า "On The Water" ซึ่งผลงานเพลงชุดนี้ พวกเขาประสบความสำเร็จมาก บทเพลงสวยงามอย่าง “Make It With You” ได้กลายเป็นเพลงยอด Hit ของพวกเขาทันที เขาตัด Track : Make it with you เป็น Single และภายในระยะ เวลาอันสั้น บทเพลง "Make it with you" ก็กลายเป็น Single Hit ที่สามารถทะยานขึ้นสู่ Chart no. 1 ได้สำเร็จ และยังเป็น Single ที่มียอด จำหน่ายได้มากกว่า 1 ล้านแผ่น และในที่สุด "Make it with you" ก็เป็นเสมือนดังเข็มทิศ ที่บอกทิศทางที่ถูกต้องให้กับ "Bread" ทำให้เขารู้ว่า เขาควรจะทำขนมปังรสชาติแบบไหน ถึงจะถูกใจผู้คนทั่วโลก David Gates ได้มีบทบาทเข้ามาเขียนเพลง และทำดนตรีกับอัลบัมชุด "Make it with you" มากขึ้น และแน่นอนว่าฝีไม้ลายมือของ David Gates ได้ถูกพิสูจน์ผ่านบทเพลงที่ประสบความสำเร็จ อย่าง Dismal day, It don’t matter to me และ Make it with you ทุกๆ คนในวง ต่างลงความเห็นว่า David Gates เหมาะที่จะเป็นผู้ที่กำหนดทิศทางให้กับ Bread ช่วงของงานอัลบัม "Make it with you" Bread ได้สมาชิกเพิ่มมาอีกหนึ่งคน คือ Mike Botts ซึ่งเข้ามารับหน้าที่ในตำแหน่งมือกลอง หลังจากนั้น ในปี 1971 : Bread ผลิตผลงานอัลบัมชุด "Manna" ออกมา โดยเขาทั้งสาม (David Gates, James Griffin, Robb Royer) ยังคงเป็น Producer ให้กับงานของตัวเอง ต่างเพียงแต่ว่า งานเพลงชุดนี้ David Gates จะเป็นแกนหลักในการเขียนเพลงและทำดนตรี ผลงานเพลงชุดนี้ Bread ประสบความสำเร็จกับบทเพลง “IF” เป็นอย่างมาก (“IF” ขึ้น Chart No. 5) เนื้อเพลงและเรียบเรียงโดย David Gates นอกจากเขาจะประสบความสำเร็จกับบทเพลงรักหวานซึ้งอย่าง IF แล้ว บทเพลงป๊อปร็อคอย่าง He's a good lad และ Too much love ก็ทำให้พวกเขาสามารถสอบผ่านได้อย่างไม่ยากเย็น
และหลังจากนั้นไม่นาน Robb Royer ก็ลาออกจากวง David Gates รีบมองหาคนใหม่เพื่อจะเข้ามาเสริมวงทันที โดยเขาได้ชวน Larry Knechtel เข้ามาแทน โดย Larry Knechtel เข้ามาแทนที่ Robb Royer ในปีเดียวกันกับที่ออกงาน อัลบั้ม Manna (1971) Larry Knechtel เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านดนตรีหลากหลาย และเป็นผู้ซึ่งที่มีส่วนช่วยที่ทำให้ดนตรีของ Bread มีความหนักแน่น และอ่อนหวานในเวลาเดียวกัน Larry Knechtel อดีต... ผู้ซึ่งที่เป็นผู้บรรเลง Keyboard ในบทเพลง "Bridge over trouble water" (บทเพลงอันยอดเยี่ยมจาก Simon & Garfunkel) และทำงานใน Studio ให้กับ Simon & Garfunkel ในปี 1970 และยังเคยทำงานกับวงดนตรีระดับแนวหน้าอีกหลายวง เช่น The Door, The Byrd, Tambourine man และ The Mamas the papas
การเดินทางของพวกเขาจะเป็นไปในทิศทางไหน...? โปรดติดตามตอนที่ 2 เร็วๆ นี้...