"Archtop Guitar" คืออะไร? แนวทางการเลือกซื้อ

คำว่า "Arch" หมายถึงโค้ง, ส่วน "Top" หมายถึงหน้าไม้ด้านหน้า ดังนั้นกีตาร์ Archtop ก็คือกีตาร์ ที่มี
หน้าไม้โค้งนูนออกมา ซึ่งเป็นศิลปะในการทำเครื่องดนตรีที่มีมาแต่โบราณ โดยจะสังเกตเห็นลักษณะ
ดังกล่าวได้จากเครื่องดนตรีเครื่องสี อย่างเช่น ไวโอลิน วิโอล่า หรือ ดับเบิ้ลเบส ล้วนมีไม้ด้านหน้าที่โค้งทั้งสิ้น

ลักษณะของ Archtop Guitar ประเภทที่เน้นซาวด์ "อะคูสติก"

เนื่องด้วยกีตาร์มีพัฒนาการมาจากเครื่องดนตรีประเภทดีดอย่าง Lute ที่มีมาตั้งแต่ยุคสมัย Renaissance ในยุโรปนั้น
ตลอดช่วงของการวิวัฒนาการ ช่างทำกีตาร์ก็ได้มีการทดลองทั้งการเปลี่ยนแปลงวัสดุ รูปทรง วิธีการผลิต
เพื่อให้ได้มาซึ่งเสียงกีตาร์ที่ดัง ฟังเสนาะหู และถูกใจผู้เล่น

ในช่วงต้นคริสตศตวรรษที่ 20 นี้เอง (ประมาณช่วงปี 1900-1930) บุคคลสำคัญที่มีบทบาทอย่างมากในการพัฒนา
"Archtop Guitar" คือ Orville Gibson ซึ่งนำความเชี่ยวชาญจากการผลิตแมนโดลินมาประยุกต์มาใช้ในการทำกีตาร์
ซึ่งเหตุผลหลักๆ ของการทำให้ กีตาร์มีหน้าไม้ที่โค้งนูน (Arch) ก็เพราะเขาเรียนรู้ว่า bracing block รวมไปถึงการประกบ
ไม้โครงสร้างภายในกีตาร์ ล้วนมีส่วนทำให้ volume(หรือความดัง) ของกีตาร์ลดลง ดังนั้น Archtop กีตาร์จึงถูกสร้างขึ้น
ด้วยแนวคิดที่จะพยายามลดโครงสร้างภายใน เพื่อให้กีตาร์มีเสียงดังมากขึ้นนั่นเอง 

Archtop กีตาร์ใช้เล่นเพลง Jazz เท่านั้นหรือ?!

ในอดีต ดนตรีไม่ได้มีความหลากหลายเหมือนในปัจจุบัน ดนตรีที่เป็นกระแสหลักในอเมริกาที่ได้รับอิทธิพลมาจากยุโรป
นั้นคือดนตรี Classic แต่จากการปะทะสังสรรค์ทางวัฒนธรรมทั้งของ ชาวยุโรปและแอฟริกา ก่อให้เกิดดนตรีประเภทใหม่
ที่มีความสนุกสนาน ฟังแล้วน่าเต้นรำ ซึ่งในยุคแรกๆ กลุ่มคนที่เล่นดนตรีประเภทนี้เรียกดนตรีของพวกเขาว่า Jass 

ซึ่งต่อมาก็ได้มีพัฒนาการเปลี่ยนเป็นคำว่า Jazz ซึ่งเมื่อดนตรี Jazz ได้รับความนิยมจากประชาชนหมู่มาก จึงทำให้
กลายเป็นเพลง Pop และในช่วงเวลานั้นก็เป็นช่วงเวลาเดียวกันที่ Archtop มีพัฒนาการเกิดขึ้นและถูกนำมาใช้
ในดนตรีประเภทนี้ดังนั้นกีตาร์ Archtop นั้นก็จึงเป็นที่นิยมใช้ในการเล่นเพลง Pop ในอดีต (หรือ Jazz โดยเฉพาะ Swing Jazz)

Gibson รุ่น L5c (Archtop Guitar)

ปัจจุบัน แม้หลายคนยังยึดติดว่าจะต้องใช้กีตาร์ Archtop ในการเล่นเพลง Jazz แต่ก็มีศิลปินหลายท่านนำกีตาร์ Archtop
มาบรรเลงเพลงในแนว "Acoustic Jazz" หรือ "Pop Jazz" ได้อย่างไพเราะ และหาฟังได้ทั่วไป

อยากซื้อกีตาร์ Archtop ควรพิจารณาอะไรบ้าง

1. วัตถุประสงค์ในการกีตาร์ Archtop ของเราคืออะไร : เสียงจากกีตาร์ Archtop ที่เราต้องการนั้นมีทั้งเสียง acoustic
และเสียงที่ผ่านแอมป์ ดังนั้นต้องตอบคำถามตัวเองให้ได้ก่อนว่าเราต้องการเสียงแบบใดมากกว่ากัน ถ้าเอาไว้เล่นคนเดียว
หรือในเวทีเล็กๆ ที่คนฟังจะรับรู้ได้ "ทั้งเสียง acoustic" และ "เสียงที่ผ่านแอมป์" เราสามารถเน้นที่คุณภาพของเสียง acoustic
โดยใช้กีตาร์ที่เป็น "all solid carved top & carved back" คือแกะนูนทั้งไม้หน้าและไม้หลัง
แต่ต้องไม่ลืมว่า ถ้าต้องการเล่นดังขึ้น ในเวทีที่ใหญ่ขึ้น กีตาร์แบบนี้จะมีปัญหาเรื่องเสียง feedback 

ดังนั้น เพื่อลดเสียง feedback ดังกล่าว เราสามารถเลือกใช้กีตาร์ที่เป็น Laminate (จะเป็น solid top + laminate back/side
หรือ all laminate ก็ได้ ซึ่ง solid top ก็จะมีพัฒนาการไปตามอายุไม่เหมือนกับ laminate top ซึ่งค่อนข้างจะคงที่
คือ เปลี่ยนแปลงได้บ้างเหมือนกัน แต่ใช้เวลาเป็นสิบปีจึงจะสังเกตได้) ซึ่งการใช้ไม้ Laminate นี้ จะช่วยแก้ปัญหา feedback ได้
แต่ถึงความดังที่จุดหนึ่ง เสียง feedback ก็จะสามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน

สรุป : เล่นคนเดียว/คนฟังน้อยๆ เลือก All solid Carved top & Carved back (ถ้าไม่ติดปัญหาเรื่องงบประมาณ) แต่ถ้าเล่นเวทีใหญ่
แนะนำให้ใช้ กีตาร์ Archtop ที่มีไม้ Laminate เป็นส่วนประกอบ หรือไม่ก็หันไปหาพวก semi-hollow หรือ solid body
ก็ไม่ผิดกติกาแต่อย่างไร

ลักษณะการทำ "carved" ให้กับกีต้าร์

2. ไม้หน้ากีตาร์ที่นูนจากการแกะ (Carve) และ นูนจากการอัดความร้อนขึ้นรูป (Press) นั้น  คุณสมบัติก็ไม่เหมือนกัน
ในการแกะนูนนั้น มีข้อได้เปรียบในการที่ช่างกีตาร์จะสามารถทำการ tap tone ไปด้วยในระหว่างที่แกะ เพื่อให้ได้ความก้องกังวาน
(resonance) และยังสามารถขูดเนื้อไม้ในส่วนที่หนาไป หรือไม่สม่ำเสมอออก เพื่อให้เกิดความก้องกังวาลได้ ในขณะที่การอัดนูน
ขึ้นรูปด้วยความร้อนนั้น จะต้องมีการคำนวณมาก่อนล่วงหน้าว่าจะใช้ไม้หนาเท่าไร มีกรรมวิธีในการขึ้นรูปอย่างไร ซึ่งในอัดขึ้นรูปนี้
ก็จะเป็นมาตรฐานเดียวกัน หากเปรียบเทียบการแกะก็เหมือนเสื้อผ้าที่สั่งตัด ในขณะที่การอัดขึ้นรูปนั้นเหมือนกับเสื้อผ้าสำเร็จรูปนั่นเอง

3. ขนาดของตัวกีต้าร์ (Body) ซึ่งมีตั้งแต่ 15", 16", 17", 18" ซึ่งแน่นอนว่า ยิ่งตัวใหญ่ เสียงก็จะแนวโน้มที่จะดังและกังวานกว่า
แต่ก็ต้องแลกมาด้วยความเทอะทะ ดังนั้น จึงควรลองด้วยตนเองว่ากีตาร์ขนาดต่างๆ เสียงแตกต่างกันเพียงใด การประครองตัวกีต้าร์
เวลาเล่น ทำได้ยากกว่ากันเพียงใด และความลงตัวสำหรับเราเองนั้นอยู่ที่ไหน

4. ภาคไฟฟ้า (Pick up) ซึ่งมีทั้งแบบ "Mounted" (ฝังใน body) และแบบ "Floating" (ลอยอยู่เหนือ Top ซึ่งมักจะต่อกับเฟรตสุดท้าย
ของคอกีต้าร์ หรือ pickguard) นั้น ก็ส่งผลต่อเสียง acoustic เช่นกัน กล่าวคือ แบบ "Mounted" หน้าไม้จะสั่นสะเทือนน้อยกว่า
คุณภาพเสียง Acoustic จะลดลง แต่ feedback ก็น้อยกว่าด้วยเช่นกัน
ในขณะที่ "Floating" (ซึ่งส่วนใหญ่เป็น mini humbucker) จะทำให้หน้าไม้เป็นอิสระมากขึ้น
คุณภาพเสียง Acoustic ดีขึ้น แต่ก็มีโอกาส Feedback ได้มากกว่า คงต้องดูด้วยครับ ว่าเราเล่นดนตรีแนวไหนมากกว่า
ถ้าเน้นเล่นแต่ Jazz ล้วนๆ มีเพียง neck pickup ก็พอ แต่ถ้าต้องการความแตกต่างของเสียงเผื่อไปเล่นแนวอื่นบ้าง ก็เลือกใช้ 2 pick up

ลักษณะของ "Floating" Pickup

5. Finish : คุณภาพการทำสีนั้น มีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากต่อ Acoustic ของกีตาร์ จริงๆ Violin Finish หรือที่เรียกกันว่า
French Polish นั้น ให้คุณภาพเสียงที่ดีที่สุด แต่ก็จะปกป้องเนื้อไม้ได้ไ่ม่ดี เกิดรอยขีดข่วน บุบง่าย รองลงมาก็จะเป็น
Nitrocellulose ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีว่า เป็นทางเลือกของกีตาร์ราคาสูง ซึ่ง finish แบบนี้จะแข็งกว่าแบบแรก และทำให้
หน้าไม้สั่นสะเทือนได้ดี แต่นานไป nitrocellulose ก็จะมีการเปลี่ยนสภาพ เปลี่ยนสี โดยเฉพาะเมื่อเจออากาศเปลี่ยนแปลง
ดังนั้น finish ที่จะกล่าวถึงสุดท้ายก็จะเป็น โพลียูรีเทน ที่มีแข็งแรง ปกป้องเนื้อไม้ได้ดี แต่อาจลดทอนการสั่นสะเทือนของหน้าไม้ไปบ้าง

6. ประเภทของไม้ : เชื่อว่าหลายท่านมีความรู้ในเรื่องประเภทของไม้ที่ใช้ในการทำ acoustic guitar ดีอยู่แล้ว
ลองหาอ่านในบทความก่อนๆ ดูนะครับ (อ่านรายละเอียดเรื่องไม้) ส่วนใหญ่ผมเห็น Archtop Guitar จะนิยมใช้
ไม้ Spruce กับ Maple เป็นไม้หน้า(Top)

7. Inlay และ Binding ต่างๆ : ตามความเชื่อของ Benedetto นั้น เขาเชื่อว่า ยิ่งมีสิ่งเหล่านี้น้อยเท่าไหร่ยิ่งดี
เพราะจะมีผลกระทบต่อเสียงน้อยที่สุด แต่อันนี้ก็ต้องแล้วแต่ความชอบของแต่ละคน
หลายท่านอาจจะเคยเห็นกีตาร์ Archtop รุ่น Martin CF-1 ซึ่งผลิตโดย
Dale Unger ช่างทำกีตาร์ผู้โ่ด่งดังจาก American Archtop ซึ่งกีตาร์รุ่นนี้ไม่มี Inlay หรือ Binding ใดๆ เลย 

8. Nut Width และ Scale Length นั้น ขึ้นอยู่กับความชอบ และสไตล์การเล่นของแต่ละคนครับ ลองดูหน่อยก็ดีว่า Idol ของเรา
ซึ่งส่วนใหญ่เป็นฝรั่งนั้น เขามือใหญ่กว่าคนเอเชียอย่างเราพอสมควร การจะไปตามเขานั้น อาจไม่เหมาะสมกับตัวเราก็ได้

Peerless Archtop Guitar รุ่น  "Imperial" ออกแบบเพื่อเน้นซาวด์ "Acoustic"

Peerless Guitar รุ่น Martin Taylor Signature Limited
9. ยี่ห้อ : เราแคร์กับยี่ห้อมากน้อยแค่ไหน ถ้ายี่ห้อไม่ติดหู แต่ฟังเสียงแล้วชอบมากกว่า spec ดีกว่า
ราคาถูกกว่ายี่ห้อดังๆ ต้องถามตัวเองแล้วครับว่า เราต้องการอะไรแน่ อันขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล
แต่ควรคำนึงถึงด้วยนะครับ ว่าช่างที่ผลิตกีตาร์ให้แบรนด์นั้นๆ มีประสบการณ์มากน้อยเพียงใด ใช้ช่างของตัวเอง
หรือจ้างบริษัทในประเทศอื่นผลิต มีการควบคุมคุณภาพการผลิตดีแค่ไหน งานเรียบร้อยแค่ไหน
เดี๋ยวนี้ข้อมูลทาง internet หาง่ายครับ ลอง search หาดู อาจจะพบว่าบางยี่ห้อที่เราไม่คุ้นหู
ไม่เคยได้ยิน แต่ในต่างประเทศกลับมีคนพูดถึงและนิยมมากก็มี

10. งบประมาณ : จริงๆ ปัจจัยนี้ต้องมาเป็นอันดับแรก แต่ผมจัดไว้ในลำดับสุดท้าย
เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องเฉพาะบุคคลครับ ถ้าอยากได้กีตาร์ที่เป็น carved top สักตัว ราคาถูกที่สุดก็ต้องมีหลายหมื่นบาท
แต่ถ้าเป็น all laminate ขึ้นรูปด้วยความร้อน ที่ผมเคยเห็นในบ้านเราสัก ประมาณสองหมื่นบาทขึ้นไป ก็พอหาได้ครับ

ที่กล่าวมาทั้งหมด คือเรื่องของ Feature (คุณลักษณะ) แทบจะล้วนๆ แต่ถ้ามาดูในเรื่อง Benefit (คุณประโยชน์)
ที่เรารับได้จากกีตาร์ก็มี 4 ด้าน คือ ทางตา (ความสวยงาม), ทางหู (เสียง), ทางกาย (สัมผัส), และทางใจ (ความรู้สึกที่ีมีต่อกีตาร์)
แล้วจะพบว่า สิ่งเหล่านี้ ต้องตัดสินด้วยตัวเราเองครับ เพราะแต่ละคนเรารับรู้ได้ไม่เหมือนกัน! 

เล่นดนตรี... ผมคิดว่าอยู่ที่ใจรัก ฝีมือก็มีส่วน อุปกรณ์ก็มีส่วน เลือกใช้กีตาร์ที่เรารู้สึกดีกับมัน โดยไม่ถึงกับเดือดร้อนกระเป๋ามากนัก
ได้ครอบครอง ได้เล่น ได้เช็ดถู แล้วมีความสุข ก็น่าจะเพียงพอครับ

ขอขอบคุณ Music Acumen (www.musicacumen.com) สำหรับภาพประกอบบทความ

By Acousticthai.Net