Acoustic Guitar Setup?
การปรับแต่งระยะความสูงของสาย-เฟรต หรือที่เรียกว่า การปรับ "Action"

คุณเคยมีข้อสงสัยไหมว่า ทำไม? กีต้าร์ที่วางขายอยู่ จึงมีระยะความสูงของสายกับเฟร็ต (Action) ไม่เท่ากัน
บางยี่ห้อ บางรุ่น ก็ทำ Action มาสูงลิบลิ่ว แล้วทำไมผู้ผลิตหรือช่าง ไม่ทำ Action มาให้พอดี?
คำตอบคือ ไมมีใครทำ Action ใด Action หนึ่ง ได้ถูกใจทุกๆ คน บางคนชอบสูงหน่อย บางคนชอบต่ำๆ
บางคนชอบกลางๆ

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ แม้โรงงานกีต้าร์จะ setup ระยะความสูงมาดีแล้ว
(ซึ่งส่วนใหญ่จะทำมาค่อนข้างมาตรฐานอยู่แล้ว อาจจะแตกต่างกันบ้างในแต่ละแบรนด์)
แต่เมื่อกีต้าร์ถูกส่งออกมาจากโรงงาน กีต้าร์ต้องผ่านการขนส่ง ต้องเจอะกับสภาพอากาศต่างๆ เช่น ร้อน เย็น ชื้น
แม้กระทั่งกีต้าร์ที่แขวนอยู่ในร้านขายนั้น ก็ต้องเจอะกับสภาพอากาศดังข้างต้นเช่นกัน
ปัจจัยเหล่านี้ ล้วนเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ไม้หน้า/และคอกีต้าร์เกิดการยกตัวหรือปรับเปลี่ยน
ไปตามสภาวะอากาศในช่วงนั้นๆ จึงเป็นคำตอบว่า ทำไมความสูงของสายกีต้าร์กับเฟรต(action)ในแต่ละกีต้าร์จึงไม่เท่ากัน

วิธีการ และ ขั้นตอนของการ ปรับระยะความสูง(Action)นั้น มีอยู่ 2 วิธีการ คือ
1. ด้วยวิธีการหมุน truss rod
2. ด้วยวิธีการขัดหรือฝน saddle

ก่อนจะบอกถึงวิธีการตั้งคอกีต้าร์ “ด้วยวิธีการหมุน truss rod” หรือการ adjust นั้น
สำหรับมือใหม่ ผู้เขียนต้องบอกก่อนว่า กีต้าร์โปร่งในปัจจุบันจะมี truss-rod อยู่แล้ว
ดังนั้น มือใหม่ไม่ต้องกังวนว่ากีต้าร์ท่านจะไม่มี truss-rod
truss rod หรือเหล็กด้ามคอกีต้าร์นั้น ปกติจะสามารถหมุนเพื่อปรับองศาคอกีต้าร์ ได้สองทาง(หมุนได้ทางใดทางหนึ่ง)
ซึ่งแล้วแต่ว่า กีต้าร์แบรนด์นั้นๆจะทำแบบใด คือ หมุนจากตำแหน่งหัวกีต้าร์ หรือด้านท้ายของกีต้าร์(ตามภาพด้านล่าง)

ภาพประกอบ (1)
การวางตำแหน่งของการขัน Truss Rod ไว้ด้านท้ายของคอกีต้าร์

ภาพประกอบ (2)
การวางตำแหน่งของการขัน Truss Rod ไว้ด้านปลายของคอกีต้าร์
สำหรับ Acoustic Guitar โดยส่วนใหญ่จะวางตำแหน่งของการขัน
หรือปรับ Truss rod ไว้ตรงด้านท้าย (ภาพประกอบ 1 ซ้ายมือบน)

ก่อนที่จะทำการหมุน Truss rod เราต้องตรวจวัดความสูง
ณ ปัจจุบันกันก่อน โดยให้วัดจาก "สาย 6 ในตำแหน่ง Fret 12" 

ระยะความสูงที่นิยมใช้กัน เพื่อใช้อ้างอิง (สามารถให้สูงหรือต่ำกว่านี้ได้ แล้วแต่ความชอบของแต่ละท่าน)
สาย 1 = ประมาณระหว่าง 2.00-3.00 mm
สาย 6 = ประมาณระหว่าง 2.50-2.80 mm

การขัน หรือหมุน Truss rod นั้น เราจะใช้เหล็ก 6 เหลี่ยม (ตามภาพบน)

โดยทั่วไป เวลาที่คุณซื้อกีต้าร์ หลายๆแบรนด์ที่มีราคาสูงๆ มักจะแถมมาให้
แต่ถ้าไม่มี คุณอาจจะต้องไปหาซื้อตามร้านขายอุปกรณ์ก่อสร้าง หรือในห้างแผนกขายอุปกรณ์ก่อสร้าง/เครื่องมือ

สิ่งที่ต้องระวังในการหมุน Truss rod เพื่อปรับคอคือ ต้องค่อยๆ หมุนที่ละ 1/4 ขยับที่ละนิด
ถ้าคุณใจร้อน หมุนรอบมากเกินไป อาจจะทำให้ Truss rod ขาดได้

ในกรณีที่เหล็ก 6 เหลี่ยมสั้นเกินไป จะทำให้เราไม่สามารถจับด้ามเหล็ก
เพื่อหมุนได้ วิธีการเพิ่มแรงให้กับการหมุนคือ ต้องหาประแจตัวต่อที่มีด้าม(ตามภาพประกอบ)
เพื่อให้การจับมีความถนัดมือมากขึ้น และยังเป็นการทุ่นแรงหมุนอีกด้วย
แต่ต้องระวังว่า เบอร์ของประแจกับเหล็ก 6 เหลี่อม จะต้องเป็นเบอร์เดียวกัน

โดยปกติแล้ว คอกีต้าร์จะไม่ตรงทีเดียว(100%) หลายคนอาจจะสงสัยว่า ทำไม?
เพราะขณะที่เราดีดสายกีต้าร์นั้น มันจะมีแรงเหวี่ยง ที่มาจากการแกว่งของสายในขณะที่เราดีด
เราจึงจำเป็นที่จะต้องมี "พื้นที่ว่างให้กับแรงเหวี่ยงของสาย" สักเล็กน้อย เพื่อเวลาที่สายมันแกว่ง จะได้ไม่ไปกระทบกับเฟรต(fret)
ถ้าสายกีต้าร์ไปกระทบกันเมื่อไร จะเกิดเสียงไม่พึงประสงค์ออกมาให้เรารำคาญใจ ซึ่งเสียงนี้คือ เสียงสายบัส หรือที่เรียกว่า "Fret Buzz"
จำไว้ประการหนึ่งว่า "ไม่ต้องผ่อนหรือคลายสายกีต้าร์" ในขณะที่ทำการหมุน Truss Rod ตั้งสายให้ตรงปรกติ
เพราะว่าหากคลายสายหรือหย่อนสาย สภาพคอจะเปลี่ยนไป คือไม่ใช่สภาพแท้จริงที่มีปัญหา ดังนั้น ไม่ต้องผ่อนสายกีต้าร์ในเวลาที่หมุน truss-rod
ต่อไปนี้ คือ วิธีการปรับ หรือหมุน Truss rod และผลลัพธ์ที่ได้

ลักษณะของ Truss rod ในแนวตรง
หาก Truss rod ตรงมากเท่าไร คอกีต้าร์ก็จะยิ่งตรงมากเท่านั้น

ลักษณะของ Truss rod ที่โค้ง หรือแอ่นขึ้น
หาก Truss rod ถูกหมุนจากซ้ายไปขวา (ตามเข็มนาฬิกา-clockwise) 
คอกีต้าร์ก็จะตรึงขึ้น ผลคือ จะทำให้ "คอแอน" หรือ "คอโค้ง" ขึ้น
ผลของการปรับ Truss rod ในลักษณะนี้ จะทำให้การเล่นของนิ้วมือซ้ายง่ายขึ้น เนื่องจากคอแอนเข้ารับกับสาย 
โดยเฉพาะช่วงกลางคอ คือ Action หรือระยะความสูงของสาย=ต่ำ (Low)

ลักษณะของ Truss rod ที่งอ หรืออาการตกท้องช้าง
หาก Truss rod ถูกหมุนจากขวาไปซ้าย(ตรงข้ามกลับเข็มนาฬิกา-counterclockwise) 
คอกีตาร์จะหย่อนลงเราอาจจะเรียกอาการนี่ว่า "คองอ" ผลของการปรับ Truss rod ในลักษณะนี้ จะทำให้การเล่นของนิ้วมือซ้ายยากขึ้น 
โดยเฉพาะช่วงกลางคอเนื่องจากคอโค้งออกจากสาย เราอาจจะเรียกอาการนี่ว่า "ตกท้องช้าง" คือ Action หรือระยะความสูงของสาย=สูง (High)

ภาพแสดงให้เห็นถึง ตำแหน่งการตรวจสอบ neck relief

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า การหมุน truss rod เพื่อปรับคอกีต้าร์นั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องจัดคอกีต้าร์ให้ตรงอย่าง 100% 
ซึ่งหมายความว่า เราควรจะจัดคอกีต้าร์ให้มีความงอของคอ สักเล็กน้อย เพื่อให้มี neck relief หรือช่องว่างระหว่างสายกับ fret 
เพราะหากเรา Action ต่ำมาก แต่ไม่มีการปรับคอกีต้าร์ เพื่อหา neck relief ให้กับคอกีต้าร์ ผลกระทบที่อาจจะตามมาก็คือ
กีต้าร์เกิดอาการ Fret Buzz! หรือเสียงบัส (สายกระแทกเฟร็ต)

"Truss rod Gap" ช่องว่างระหว่างเฟร็ตกับสาย
โดยทั่วไป neck relief จะมีความสูงที่ 0.25-0.50mm ใน Fret ที่ 6-7 
และจะมีความสูงที่ 0.30-0.50mm ใน Fret 8 โดยประมาณ

ถ้าไม่มีอะไรวัด ก็ลองใช้นามบัตร หรือพวกบัตร ATM เพื่อประมาณระดับที่ต้องการได้
อย่างตัวอย่างข้างต้นนี้ เมื่อเอาบัตร ATM สอดเข้าไปใน fret 8th จะพอดี ซึ่งเป็น neck relief ที่ต้องการพอดี
ช่องว่าง หรือระยะความสูง จะมากหรือน้อยกว่านี้ก็ได้ ขึ้นอยู่กับผู้เล่นว่าชอบระยะที่เท่าไร 
และที่สำคัญ คือสไตล์การเล่นของผู้เล่นด้วย เช่น ผู้เล่นในแบบ Bluegrass จะชอบให้มี neck relief มากสักหน่อย 
เพราะการเล่นรูปแบบนี้ จะเล่นด้วยน้ำหนักที่มาก

แต่สำหรับผู้เล่นในรูปแบ finger picking อาจจะชอบให้มี neck relief น้อย 
เพื่อความคล่องตัวในการวางนิ้วมือซ้าย เป็นต้น สรุปว่า เล่นหนักควรตั้งให้มี neck relief มาก แต่ถ้าเล่นเบา ก็ควรมี neck relief น้อย

ถ้าคอตรงแบบ 100% แล้วปรับ Action ต่ำ จะส่งผลให้เกิดอาการสายตีเฟร็ตได้ง่าย 
หรืออาการ Fret Buzz เราจึงต้องปรับ Truss rod เพื่อจัด Neck Relief ให้เหมาะสม 

- ถ้าเราตั้ง neck relief มากเกินไป (ลักษณะคอจะงอตกท้องช้าง) 
ช่องว่างระหว่างสายกับเฟร็ต ก็มีมาก นั่นหมายถึงว่า เราก็จะต้องเพิ่มแรงกดนิ้วมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงกลางคอ 

- ถ้าเราตั้ง neck relief น้อย (ลักษณะคอจะแอ่น/โค้ง) 
แม้จะทำให้เราเล่นได้สบายมือสบายนิ้วมากขึ้น แต่ก็อาจจะเกิด fret buzz ได้

เมื่อเราขัน Truss rod กระทั่งได้ระยะความสูง (Action) และ Neck relief ที่ต้องการ (โดยอาจจะอ้างอิงจากระยะความสูงข้างต้น
ที่กล่าวมาก็ได้) ถึงตรงนี้ ถ้าเราจะพอใจกับระยะความสูง(action) โดยไม่จำเป็นต้องทำอะไรต่อไปอีก เป็นอันจบขั้นตอน

หากเมื่อได้ลองเล่นดูแล้ว ยังรู้สึกว่า Action ในตำแหน่งที่ลึกเข้ามา เช่น ช่วงตำแหน่ง Fret 10 หรือ Fret 12 ยังสูงอีกเล็กน้อย 
เราอาจจะต้องมาแก้ปัญหา ผ่านกระบวนการปรับ "Saddle" ซึ่งอาจจะสูงเกินไป จึงทำให้การปรับ truss rod แก้ปัญหาได้ไม่หมด

เราจึงต้องมาแก้ปัญหาเรื่องระยะความสูง ด้วยวิธีการปรับ "saddle" ด้วยการ "ขัด saddle" หรือ "ฝน saddle"

ก่อนอื่นต้องคลาย และถอดสายบริเวณ Bridge Pin ออกก่อน

ดึง saddle ออกมา เพื่อทำการขัด หรือฝน เพื่อให้มันต่ำลง 

ในขั้นตอนนี้เราต้องทำเครื่องหมาย เพื่อกำหนดระดับของการขัด หรือฝน 
อาจจะใช้ดินสอ Mark ไว้ ด้วยวิธีขีดเส้นลากยาว ณ บริเวณใต้ฐานของ saddle, เริ่มขัด saddle ให้ต่ำลงทีละนิด 

และควรทำเครื่องหมาย (Mark) ที่ saddle ไว้ด้วยว่า
มุมใดของ saddle คือสาย 1 (E string high)
มุมใดของ saddle คือสาย 6 (E string low)

ขั้นตอนการขัดหรือฝน saddle นั้น แนะนำให้เลือกใช้กระดาษทรายเบอร์ 1000 
ซึ่งเป็นแบบละเอียด เพื่อความละเอียด และความสวยงามของงาน เวลาฝนลงบน saddle ผิวจะเรียบสนิท

ขณะเวลาขัดหรือฝน saddle ให้จับตัว saddle ให้ตั้งฉากไปในแนวนอนระนาบกับกระดาษทราย 
สไลด์เดินไปข้างหน้าและกลับหลัง ในทิศทางเดียวกัน ด้วยจังหวะกลางๆ 
เพื่อให้ผิว saddle สัมผัสกับพื้นกระดาษทราย อย่างทั่วถึงกัน 

พยายามสังเกต make ที่เราได้ทำไว้ที่ฐาน saddle ว่ากระดาษทรายกินผิว saddle 
ทั่วทั้งหน้าหรือไม่ เพื่อป้องการไม่ให้เกิดความผิดพลาดในกรณีที่ผิวหน้า saddle 
อาจจะไม่เรียบ เพราะหากผิวหน้า saddle ไม่เสมอกันหรือ ไม่เรียบ หรือเป็นลักษณะคลื่น 
จะส่งผลต่อเสียง อาจจะทำให้เสียงแต่ละสายดังไม่เท่ากัน ดังนั้นจึงต้องระมัดระวังให้มาก

ให้ข้อสังเกตอีกอีกนิดว่า หากในกรณีที่จะต้องขัดผิวหน้า saddle ออกมาก 
เนื่องจาก saddle มีความสูงมากนั้น เราอาจจะใช้กระดาษทรายเบอร์เล็กกว่า 1000 
(เบอร์หยาบ) มาใช้ขัดหรือฝนนำไปก่อน พอขัดหรือฝนลงได้ในระดับที่ใกล้ๆ 
กับตำแหน่งที่เราทำ make ไว้ จึงจะใช้กระดาษทรายเบอร์ 1000 เป็นลำดับต่อไป 
(เพื่อความรวดเร็วและประหยัดเวลา)

หลังจากที่เราได้ขัด saddle ต่ำมาถึงระยะที่เรา make ไว้แล้ว ก็ให้ใส่กลับเข้าไป ขึ้นสาย 
แล้วลองเล่น...

หากเข้ามือดี มีความคล่องตัวดี นั่นก็น่าจะหมายถึงว่า เป็น action ที่ดีที่สุด (สำหรับคุณ) แล้ว

จงตระหนักไว้ว่า Action ที่ดีที่สุดคือ 
Action ที่ทำให้การเล่นของคุณ มีความคล่องของนิ้วมือ 
ที่เคลื่อนไหวตามจังหวะนั้นๆ ได้ดีที่สุด
Action ที่ไม่ทำให้คุณรู้สึกว่า เจ็บนิ้ว หรือปวดข้อมือ 
สูตรที่ตั้งไว้ต่อไปนี้ เป็นเพียงแนวทาง ในการปรับ Action:
สาย 1 = 5/64" ประมาณ 2 mm 
สาย 6 = 7/64" ประมาณ 2.8 mm

ที่ต้องบอกว่าเป็นเพียงแนวทาง...
ก็เพราะต้องการให้คุณได้เกิดการเรียนรู้(มากกว่าcopy) 
และพยายามสังเกตกับตัวเองว่า คุณถนัด หรือชอบ Action แบบไหน? 
ระยะใด? เพื่อคุณจะได้พบกับ Action ที่ดี ที่สุดสำหรับการเล่นของคุณ

สำหรับกีต้าร์บางตัวที่มีอายุมาก (อาจเกิน 20 ปีขึ้นไป) หรือมีหลักการเก็บรักษาไม่ถูกต้อง 
เช่น ในส่วนของ TOP-BOARD หรือ SOUND-BOARD มีอาการท้องป่อง หรือบวม จะส่งผลให้ Action บริเวณช่วง Fret 10-12 เป็นต้นไป 
มีความสูงมาก อาจจะต้องแก้ไขโดยวิธีขัด Bridge, หรืออาจะถอดคอ (Neck) ออกมา เพื่อแต่งคอใหม่ (ซึ่งอาจจะได้เขียนถึงต่อไป)

อาการบางอย่าง หากหนักเกินกว่าที่เราจะทำได้ เนื่องจากไม่มีความชำนาญ หรืออาจจะไม่มีเครื่องมือ แนะนำว่า ควรจะส่งให้ผู้ที่มีความ
เชี่ยวชาญ หรือช่างซ้อม เพื่อวิเคราะห์และแก้ไขต่อไป 

หลักการคิด: ระยะความสูงระหว่างสายกีต้าร์กับ Fret นั้น ไม่มีสูตรที่ตายตัว ที่สำคัญ ที่สุดคือ คุณชอบ และถนัด!

เรียบเรียงโดย : ทีมงานอะคูสติกไทย
สงวนสิทธิ์เนื้อหาบนเวบไซด์ กรุณาแจ้งกับทีมงานอะคูสติกไทยก่อนนำไปเผยแพร่