ก่อนส่งกีตาร์ซ่อม เราควรรู้อะไรบางอย่างก่อน
เพื่อความเข้าใจข้างต้น เมื่อไปถึงช่างฯ จะได้สื่อสารกันได้ง่ายขึ้น
.
การซ่อมกีต้าร์ การปรับแต่งกีต้าร์ เป็นเรื่องปกติทั่วไป ไม่ช้าก็เร็วที่ท่านจะต้องใช้บริการกับ ร้านซ่อมกีต้าร์ กับ ช่างซ่อมกีต้าร์ แน่นอน!
เนื่องจากีต้าร์เป็นของบอบบาง อ่อนไหวต่อสภาพอากาศ โดยเฉพาะกีต้าร์โปร่ง ที่เป็น Solid wood ยิ่งมีความอ่อนไหว
ง่ายกว่า Laminate wood เพราะธรรมชาติของ Laminate จะมีความแข็งกว่า Solid จึงทนกับอากาศที่เปลี่ยนในทุกๆวันได้ดี
“ช่างซ่อมกีต้าร์ ช่างปรับแต่งกีต้าร์”
บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อเป็นแนวทางให้กับท่านที่จะนำกีต้าร์ไปซ่อม
เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นหลังการซ่อม เรามาดูกันว่า ต้องเตรียมตัวอย่างไรกันบ้าง
1. ระยะเวลาการซ่อมกีต้าร์ หรือ ปรับแต่ง
ท่านควรจะสอบถามกับช่างก่อนว่า ใช้เวลานานแค่ไหน และท่านยอมรับได้หรือไม่
บางท่านมีอาชีพเป็นนักดนตรี และมีกีต้าร์ตัวเดียว หากต้องรอกันทั้งสัปดาห์ ระยะเวลาแบบนี้คงไม่เหมาะกับท่าน
แต่ บางท่านมีกีต้าร์หลายตัว หรือ เล่นสนุกๆอยู่บ้าน ระยะเวลาในการรอกีต้าร์อาจจะยึดหยุ่นกันได้
อย่างไรก็ตาม ระยะเวลางานซ่อมกีต้าร์บางกรณี ก็จำเป็นที่ต้องอาศัยระยะเวลานาน เช่น งานซ่อมที่ต้องทากาว เป็นต้น (ท่านจึงต้องเข้าใจ)
หากเทียบกับงานติดตั้งภาคไฟฟ้า(pickup) จะใช้เวลาสั่นกว่ามาก หรือหากเป็นงานปรับแต่ง action อาจจะรอรับกีต้าร์ได้เลย
หรืออาจจะไม่เกิน 1-2 วันเป็นต้น(บางร้านงานเยอะ ต้องต่อคิว)
2. ราคาค่าซ่อมกีต้าร์
แต่ละร้านมีความแตกต่างกัน ปัจจัยนั้นหลายประการ เช่น ร้านที่มีชื่อเสียงยาวนาน,
ร้านเปิดใหม่ยังไม่มีผลงานเป็นที่ยอมรับในวงการ, หรือ มูลค่ากีต้าร์ก็อาจจะมีผลกับบางร้าน
เช่น กีต้าร์ตัวละ 3,000 บาท กับกีต้าร์ตัวละ 300,000 บาท ช่างอาจจะคิดค่าบริการต่างกัน
เนื่องจากถือว่า ความรับผิดชอบต่อสินค้า 3,000 บาท กับ 300,000 บาท นั้นต่างกันมาก
(ซึ่งส่วนตัวของผู้เขียน ยอมรับหลักการนี้ได้) แต่อัตราและข้อเงื่อนไขนี้ อาจจะเป็นบางร้าน เท่านั้น
บางร้านอาจจะคิดอัตราเดียวกัน ทั้งนี้ อยู่ที่ท่านว่าจะยอมรับ… มอบความไว้ใจ ให้กับร้านใด
หรือเงื่อนไขใด ราคาใด ที่ท่านยอมรับได้ การตัดสินใจเพื่อเข้ารับบริการอยู่ที่ท่านเองทั้งหมดว่า ok หรือไม่ ok
3. สภาพเดิมๆ ของกีต้าร์
ก่อนส่งกีต้าร์ให้ช่าง ท่านควรตรวจสอบกีต้าร์ตัวเองว่า สภาพสมบูรณ์หรือมีตำหนิตรงไหนบ้าง
หากท่านรู้สภาพ/ตำหนิของกีต้าร์ตัวเองอยู่แล้ว ท่านควรจะแจ้งช่างด้วย เพราะมันจะเป็นเรื่องใหญ่ทันที…!
หากว่า เมื่อตอนที่ท่านไปรับกีต้าร์คืน แล้วเจอะตำหนิ….ที่ท่านหรือช่าง อาจจะไม่เคยได้ตรวจสอบมาก่อน
บางร้าน…เท่าที่ผู้เขียนเคยใช้บริการ เขาจะมีระบบที่ดีมาก คือ มีการโน๊ต/จดบันทึกในกระดาษ(ที่รับงาน)เลยว่า
ตำหนิตรงไหน ว่ากันเป็นจุดๆเลย แบบนี้สบายใจทั้งสองฝ่าย และไม่ต้องมาทะเลาะกันภายหลัง มันจะเสียความรู้สึกกันเปล่าๆ ครับ
4. อุปกรณ์ หรืออะไหล่
กีต้าร์บางตัว มี option หลายๆอย่าง เช่น ภาคไฟฟ้า วงจรไฟฟ้า ฯลฯ พวก hardware ต่างๆ
บางกรณีที่ผ่านมา ช่างบางร้าน ถูกกล่าวหาว่า มีการเปลี่ยนอะไหล่ คือ เอาอะไหล่จริงออกไป แล้วเอาของปลอมมาใส่ให้แทน
จริงหรือไม่จริง คนนอกอย่างเราไม่มีทางรู้ มีสองคนที่รู้ คือ เจ้าของกีต้าร์กับช่าง ดังนั้น ก่อนจะส่งกีต้าร์ให้ช่าง
อาจจะต้องเปิดอะไหล่กันเลยว่า ดูนะเดิมๆมันเป็นอย่างไร อาจจะถ่ายภาพไว้ด้วยมือถือ และตอนจะรับกีต้าร์คืน
ควรจะต้องตรวจสอบ ณ ตอนรับกีต้าร์ ณ ที่ร้านเลย เพื่อจะได้เห็นของพร้อมๆกัน ส่วนใหญ่ไม่ทำแบบนี้ แล้วมาเจอะปัญหาภายหลัง
สุดท้ายทะเลาะกัน ไม่มีประโยชน์ครับ
5. ตรวจเช็คงานปรับแต่งกีต้าร์ว่า “ถูกใจ” แบบที่ท่านต้องการหรือไม่ โดยเฉพาะงานปรับ “Action”
หลายๆครั้ง งานปรับแต่งอาจจะมีมากกว่างานซ่อม เช่น ปรับองศาคอ ปรับ saddle เพื่อแก้ปัญหา/จัดระดับ action
ให้เหมาะสมกับผู้เล่น ในแบบที่ผู้เล่นต้องการ เรื่องนี้…มือใหม่อาจจะยังไม่เข้าใจ ผู้เขียนแนะนำให้อ่่านบทความต่อไปนี้
–> http://acousticthai.net/acoustic_guitar_setup.html
(การปรับแต่งระยะความสูง หรือ Action ระหว่างสายกีต้าร์กับเฟรต เพื่อค้นหาระยะความสูงที่เราถนัด)
หลายๆท่านถนัดสะดวกที่จะทำเอง แต่บางท่านไม่มีเครื่องมือ ไม่มีเวลา หรือไม่มั่นใจ ผู้เขียนแนะนำให้ส่งช่างครับ
เพราะค่าบริการไม่ได้สูงอะไร แค่หลักร้อยเท่านั้น (ราคาอาจจะเริ่มจาก 200-500 บาท บวกลบจากราคานี้ ก็แล้วแต่กรณีๆไป)
ในข้อ 5 นี้… ผู้เขียนแนะนำว่า ให้ท่านแจ้งกับช่าง หรือปรึกษาช่างก่อนที่จะมีการปรับระยะความสูง
เช่น ท่านเป็นคนเล่นกีต้าร์แบบไหน หนัก เบา ชอบ picking ชอบตีคอร์ดหนัก หรือเบา แค่ไหน
เพราะ หากท่านเล่นเบา ชอบ picking มากกว่าตีคอร์ด การปรับ action ก็จะต่างจากการเล่นแบบแรงๆหรือตีคอร์ดแรงๆ
หรือ แม้แต่เรื่องขนาด/เบอร์ของสายกีต้าร์ ก็มีผลต่อการปรับ action เช่น… ถ้าชอบใช้สายเบอร์ 10 หรือ 11 การปรับ action
ก็ต่างจากคนที่ชอบใช้สายเบอร์ 12 เป็นต้น ตัวอย่าง…เช่น
.
สายเบอร์ 10 อาจจะไม่สามารถตั้ง action ให้ต่ำมากๆเท่ากับสายเบอร์ 12
เนื่องจากสายเบอร์เล็ก มีแรงสั่นและการแกว่งของสาย มากกว่า สายเบอร์ใหญ่
หากตั้ง action ต่ำเกินไป อาจจะเกิดปัญหาสายตีเฟรต หรือ buzz ไม่ใช่เรื่องดีแน่ๆ หากเกิด buzz ขึ้น
ดังนั้น เมื่อท่านบอก/ปรึกษาช่างไปแล้ว หลังจากช่างปรับ Action เรียบร้อย ท่านควรจะลองจับกีต้าร์มาเล่น ตามสไตล์ที่ท่านเล่น
และ… ให้เล่นแบบธรรมชาติในแบบปกติ อย่าไปฝืนอะไรทั้งสิ้น ให้เล่นแบบสบายๆ “ตามสไตล์ของท่านจริงๆ”
ให้สังเกตว่า… มือท่านนิ้วท่าน ฟิวหรืออารมณ์การเล่นของท่านไหลลื่นดีไหม? ถนัดมือไหม? เหมาะกับน้ำหนักนิ้วท่านไหม?
หากยังรู้สึกว่า ต่ำไป สูงไป ให้บอกช่าง ณ ตอนนั้น เพื่อแก้ไขทันที อย่ารับกีต้าร์กลับมา แล้วมานั่งทนเล่นกับสิ่งที่เราไม่ชอบ/ไม่ถนัด
มันจะกลายเป็นว่า ช่างทำไม่ดี ทั้งที่…ท่านเองต่างหากที่ไม่ตรวจสอบก่อน ดังนั้น อย่าลืมนะครับ ก่อนรับกีต้าร์กลับมา ให้ตรวจสอบก่อนเสมอ.
ส่งท้ายบทความนี้ด้วย รายชื่อ “ร้านซ่อมกีต้าร์” บางส่วน …ที่ผู้เขียนทราบว่า ร้านเหล่านี้ยังบริการซ่อมกีต้าร์
สำหรับร้านบางร้านผู้เขียนไม่ทราบว่า ยังรับงานซ่อมหรือไม่ หากร้านใดประสงค์ต้องการให้ทางเวบฯ ลงรายชื่อให้
สามารถติดต่อมาได้ทางอีเมล์ acousticthai(แอด)hotmail.com เผื่อทางเราจะได้เพิ่มชื่อให้ครับ
และ บางร้านผู้เขียนเคยใช้บริการมาบ้าง จึงขอแนะนำดังนี้…
.
▶︎ ร้าน Bocusto Guitar
สถานที่ สะพานใหม่ ถ.พหลโยธิน ซอย 50
ซ่อมกีต้าร์ ปรับแต่งกีต้าร์ อาการต่างๆ รวมทั้งยังรับสร้างกีตาร์ Custom Made
ทั้งกีตาร์โปร่งสาเหล็ก และ กีตาร์คลาสสิค
โทร 089-767-2180
https://www.facebook.com/bocustoguitars/
.
▶︎ วิรุฬ ทรงบัณฑิต (ช่างนิด)
อาจารย์ใหญ่ในวงการกีตาร์โปร่ง
เป็นผู้ริเริ่ม บุกเบิก วงการช่างไทย
ช่างสร้างกีตาร์ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย
สถานที่ ถนนศรีอยุธยา
ซ่อมกีต้าร์ ปรับแต่งกีต้าร์ สร้างกีต้าร์ และ รับสอนสร้างกีต้าร์
โทร 081-274-5103
สงวนสิทธิ์บทความโดย ทีมงาน AcousticThai.Net