ทีมงานอะคูสติกไทย ภูมิใจเสนอ บทสัมภาษณ์ "ดร. รักษ์" บุคคลผู้ซึ่งหลงรักในอะคูสติกกีต้าร์มาติน และเป็นบุคคลที่สะสมเฉพาะ
กีต้าร์โปร่งยี่ห้อ "Martin" เท่านั้น! ที่น่าสนใจคือ ดร. รักษ์ เป็นผู้มีความรู้ในกีต้าร์ Martin เป็นอย่างดี และเก็บสะสมกีต้าร์มาตินยุค Prewar
อยู่หลายตัว! เรามาทำความรู้จัก ดร. รักษ์ ...ผู้สะสม "Martin Prewar" ซึ่งมีไม่มากคนนัก ที่จะมีโอกาสเป็นเจ้าของ Martin Prewar !!
อะคูสติกไทย: สวัสดีครับดร. รักษ์, ขอเริ่มต้นเลยนะครับ, ดร. เริ่มสนใจกีต้าร์โปร่งตั้งแต่เมื่อไรครับ
ดร. รักษ์ : ผมเริ่มสนใจตั้งแต่อายุ 13-14 ปี คือเราชอบฟังดนตรีโฟร์คซองตั้งแต่เด็กๆ ศิลปินที่เราชอบ ทุกๆคนล้วนถือกีต้าร์โปร่ง
เราได้เห็น ได้ฟังก็ชอบ

อะคูสติกไทย: มาหลงรักกีต้าร์โปร่งยี่ห้อมาติน ตั้งแต่เมื่อไรครับ
ดร. รักษ์ : ตอนเด็กๆ ผมยังไม่รู้จักกีต้าร์โปร่งยี่ห้อมาติน กระทั่งเรียนที่มหาวิทยาลัย ก่อนหน้านี้เห็นในรูป
รู้แค่เพียงว่า กีต้าร์ยี่ห้อนี้คนใช้กันเยอะ

อะคูสติกไทย: ก่อนหน้าที่จะหลงรักมาติน เคยรักยี่ห้ออื่นมาก่อนไหมครับ
ดร. รักษ์ : ไม่เคยเลย ผมรักกีต้าร์มาติน มาตั้งแต่ต้นเลยครับ

อะคูสติกไทย: กีต้าร์ตัวแรกคือมาติน หรือเปล่าครับ
ดร. รักษ์ : เปล่าครับ เมื่อก่อนตอนเด็กๆ เรายังไม่มีความสามารถพอที่จะซื้อ Martin
กีต้าร์ตัวแรกๆ ที่ใช้งานได้ดีก็คือ Yamaha FG180 ป้ายแดง ตอนนั้นประมาณปี 1966 ตัวนี้จำลองมาจาก D-18 ใช้งานได้ดีทีเดียว

อะคูสติกไทย: ศิลปิน Folkที่ ดร. ชอบ
ดร. รักษ์ : Peter Paul and Mary, Joan Baez, Jim Croce, Simon and Garfunkel อีกหลายๆ ท่าน ตั้งแต่ยุค 50's-60's มาถึง 70's
Bluegrass อย่าง Tony Rice, Doc Watson ชอบมาก ค่อนข้างเยอะที่ชอบฟัง

อะคูสติกไทย: สิ่งสำคัญ ที่ทำให้ ดร รักษ์ หลงรักกีต้าร์มาติน
ดร. รักษ์ : คือคงจะอยู่ที่ฮีโร่ของเราด้วย ในสมัยนั้นศิลปินที่เรารักและชอบ ล้วนเป็นศิลปินอเมริกัน และล้วนแต่ถือกีต้าร์มาตินทั้งนั้น
ในสมัยนั้นศิลปินมีผล และสร้างแรงบันดาลใจ ให้กับคนทั่วไปมากๆ อีกอย่างคือ เสียงมันถูกใจเราที่สุด

อะคูสติกไทย: จุดเด่นของมาติน ที่ทำให้ ดร รักษ์ ชื่นชอบเป็นพิเศษ
ดร. รักษ์ : รูปลักษณ์ การออกแบบที่เฉียบขาดในแบบที่เราชอบ คือผมเป็นคนที่ไม่ชอบอะไรที่หรูหร่า เช่น กีต้าร์ที่ตบแต่งมุกเยอะๆ เป็นต้น
ชอบอะไรที่เรียบๆ แต่ดูดี และเสียงของกีต้าร์มาตินในสมัยนั้น ผมจับกีต้าร์มาตินตัวไหน ก็รู้สึกว่า เสียงมันดีทุกๆ ตัว แม้เราอาจจะไม่รัก
ไม่ชอบตัวนั้น รุ่นนั้น แต่ว่าเสียงดีทุกตัวที่เราได้จสัมผัส นั้นคือมาตรฐานของการทำกีต้าร์โปร่งยี่ห้อมาติน 

อะคูสติกไทย: กีต้าร์มาตินตัวแรกของ ดร รักษ์
ดร. รักษ์ : ผมจบมหาวิทยาลัยปี 1972 ไปเรียนที่อเมริกา ผมก็ซื้อมาตินตัวแรกคือ Martin D-18 

อะคูสติกไทย: Martin D-18 ตัวแรกที่ซื้อ โดนใจที่สุดหรือเปล่า
ดร. รักษ์ : ไม่ใช่ครับ ส่วนตัวของผม ผมชอบเสียงจากไม้ Back/Side ที่เป็น Indian Rosewood มากกว่า Mahogany ที่ Martin D-18 ใช้
คือความกังวาน และปลายเสียงของมันจับใจกว่า ผมรู้สึกแบบนั้น เลยชอบกีต้าร์ที่ทำด้วยไม้ Indian Rosewood เป็นองค์ประกอบ

อะคูสติกไทย: กีต้าร์ Martin ตัวที่สอง คือรุ่นอะไรครับ
ดร. รักษ์ : Martin D-35 ครับ ตั้งแต่ซื้อมันมาไม่เคยรู้สึกผิดหวังเลย อยู่กับมันมานาน ตอนนี้ก็ยังชอบเล่นอยู่ แม้จะผ่านมาเกือบสี่สิบปี
อะคูสติกไทย: จริงๆ แล้ว Martin D-35 ก็เป็นกีต้าร์ที่ดีในหลายๆ รุ่นที่ Martin ผลิตออกมา เพียงแต่ว่า ไม่ค่อยได้รับการกล่าวถึง หรือเปล่า?
ดร. รักษ์ : ใช่ครับ พูดไปเหมือนเป็นลูกเมียน้อย ก็ต้องเจียมตัว (มีหัวเราะ ฮาฮา) แน่นอนเสียงของ Martin D-35 คงจะไม่สามารถมีพลัง
ได้ดีเท่า Martin D-28 แต่ว่าความหวานมันไม่น้อยหน้าใคร, Martin D-35 จึงเป็นตัวหนึ่งที่ผมชอบ แต่น่าน้อยใจที่ Martin D-35 ไม่ค่อยจะ
ได้รับก็นับถือ การยกย่อง หรือกล่าวถึง

อะคูสติกไทย: Martin D-28 ในสายตาของ ดร รักษ์
ดร. รักษ์ : ผมว่า Martin D-28 คือกีต้าร์ที่ยอดเยี่ยมมาก มันเหมาะกับการเล่น Bluegrass ที่สุด ย่านเสียงต่ำหรือเสียงเบส มันชัดมากๆ
ให้เสียงที่ดัง จากโครงสร้างที่ดีจึงเป็นพระเอกได้แม้จะเล่นกับวง Bluegrass ที่มีเครื่องดนตรีหลายชิ้นที่มีความดังมากๆก็ตาม
แต่ถ้าจะเล่นแบบ Finger packing ผมว่าน่าจะเล่นพวก OOO-28 มากกว่า คือด้วยรูปทรง และขนาดมันเหมาะสมกว่า

อะคูสติกไทย: Martin ตัวต่อไปที่ ดร.รักษ์ ต้องการ
ดร. รักษ์ : ถ้ามีโอกาส ถ้าเจอะนะ... ก็อยากได้กีต้าร์เก่าๆ อย่าง "Martin body S" ตัวเล็กๆ 12 Frets

อะคูสติกไทย: การตัดสินใจซื้อกีต้าร์ในแบบ ดร รักษ์
ดร. รักษ์ : ชื่อเสียงกับประวัติของกีต้าร์ มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสำหรับผมมาก คือเสียงต้องดี และมีจุดเด่นทางด้านประวัติที่ดี
อันนี้มองในแง่นักสะสมนะครับ

อะคูสติกไทย: ถ้าจะแนะนำสำหรับผู้ที่งบไม่เยอะ แต่อยากได้กีต้าร์โปร่งมาติน ดร รักษ์ จะบอกอะไรกับเขาครับ
ดร. รักษ์ : ผมว่าสมัยนี้โชคดีนะ หาซื้อของได้ไม่ยาก เดินเข้าไปในห้างก็เจอะแล้ว อย่างในร้าน Music Collection,
ถ้าคิดจะซื้อ Martin ผมแนะนำในชุด "Standard Series" เช่น D18, D28 ขึ้นไป เพราะว่ามันมีการพิสูจน์ตัวเองมานานแล้ว
ผมมั่นใจว่า จะไม่เสียใจแน่นอน และทรงเดทน๊อทมันก็คือ Overall หมายความว่า มันเล่นได้หลากหลายแบบ ลุยได้หมดในหลายๆสไตล์
ส่วน Martin OOO-28 ก็ถือว่าดีทีเดียว แต่ราคาจะสูงสักเล็กหน่อย

อะคูสติกไทย: วิจารณ์ Martin D-18 กับ D-28 ในแบบ ดร รักษ์
ดร. รักษ์ : ผมว่า Martin D-18 ตอบสนองได้ไม่เท่ากับ D-28 ไม่ปฎิเสธว่ามันชัดกว่า คมกว่า แต่ความหวาน และพลังของมันที่ด้อยกว่า
สำหรับ Martin D-18 ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของเราได้ ผมว่าคนส่วนใหญ่ที่เริ่มต้นซื้อ D-18 ไม่นานก็ต้องซื้อ D-28 เข้าสักวัน
แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับงบประมาณ และความชอบด้วยนะครับ

อะคูสติกไทย: Martin รุ่นไหน ถูกใจ ดร. รักษ์ มากที่สุด
ดร. รักษ์ : Martin D-28 และ Martin D-35 ครับ แต่หากถามในแง่การเล่น กลับชอบเล่น D-35 มันสามารถตอบสนองเราได้ในทุกๆ อารมณ์
คนอื่นอาจจะไม่ได้ยินในแบบที่เราต้องการได้ยิน แต่เราเน้นตัวเองเป็นหลัก เพราะส่วนใหญ่เราเล่นให้ตัวเองฟัง

อะคูสติกไทย: Martin D-35 ที่ ดร. รักษ์ ใช้ ผลิตปีอะไรครับ
ดร. รักษ์ : Martin D-35 ปี 1973 ครับ มีคำวิจารณ์เหมือนกันว่า ช่วงปี 1970 Martin ทำกีต้าร์ไม่ดี หรืออะไรที่เกี่ยวกับ D-35 ในแง่ลบ
แต่ผมกลับไม่เคยคิดแบบนั้น ผมกลับชอบตัวนี้, กว่าจะซื้อตัวนี้มา ผมก็ลองทั้งร้านเหมือนกัน และผมก็ดีใจ ที่ได้ Martin D-35 ตัวนี้มาเล่น
คือได้กีต้าร์ที่ชอบโดยไม่ต้องจ่ายเงินเยอะ! (หัวเราะ555)

อะคูสติกไทย: หากพูดถึง รุ่นของกีต้าร์ Martin สัก 1 รุ่น, ดร. รักษ์ อยากพูดถึงรุ่นใด
ดร. รักษ์ : ผมคิดว่า "Martin D-28" คือสิ่งที่ลงตัวที่สุด มันพิสูจน์ตัวเองมานาน มันคือต้นแบบ คือการค้นพบ คือการลงตัวที่สุดของมาติน
ทั้งองค์ประกอบของไม้ Top Side & Back และโครงสร้างภายในเช่น X-Bracing

อะคูสติกไทย: หากมีเงินแต่ไม่มีโอกาสที่จะได้ Martin ปีเก่า อย่าง Prewar แบบ ดร. รักษ์, จะแนะนำเขาอย่างไร
ดร. รักษ์ : หากเล่น Finger packing ผมแนะนำ OOO-28VS ยังหาซื้อได้ เป็น Standard Series ที่น่าสนใจมาก หรือ OM-28 ครับ
ผมคุ้มค่ามาก

อะคูสติกไทย: กีต้าร์ Martin ที่ ดร รักษ์มี เก่าสุดคือปีอะไร
ดร. รักษ์ : "Martin Stauffer" ปี 1845 เป็นรุ่นแรกๆ ของโรงงานมาติน เป็นช่วงเริ่มแรกของการก่อตั้งมาตินก็ว่าได้ ตัวนี้เก่าแก่จริงๆ
เพราะมาตินเข้ามาในอเมริกาช่วงปี 1833 จุดเด่นของรุ่นนี้คือ หัวกีต้าร์จะเป็น Stauffer style

อะคูสติกไทย: ฝากอะไรไว้เป็นแง่คิดสำหรับผู้ที่สนใจจะซื้อกีต้าร์ดีๆ ไว้เล่นสักตัว
ดร. รักษ์ : กีต้าร์ หรือเครื่องดนตรีอะไรก็ตาม เป็นเรื่องของเรากับเครื่องดนตรีของเรา ไม่ใช่เป็นเรื่องยี่ห้อ หรือราคา
ไม่ใช่เรื่องของคนอื่นๆ ที่เห็นแล้วต้องชมชอบ... "เพราะถ้าเราเล่นแล้วไม่ชอบ มันก็จบ" ดังนั้นต้องดูว่าเราชอบเป็นหลักสำคัญ
ขอให้มันไปกับเราได้ มันตอบสนองเราได้ก็จบ นี่คือสิ่งสำคัญที่สุด

อะคูสติกไทย: Martin Prewar ในมุมมองของ ดร. รักษ์
ดร. รักษ์ : ผมคิดว่ามันคือช่วงเวลาที่ดีที่สุดของมาตินในสมัยนั้น ทั้งการคิดค้น การค้นพบ ส่วนผสมทางโคลงสร้างในการทำกีต้าร์สายเหล็ก
หรือ flattop guitars คือช่วงปี 1929 ปลายๆ ถึงปี 1942 คือช่วงก่อนหน้าปี 1929 จนถึงต้นปี 1929, Martin จะทำกีต้าร์สายไนล่อยสะส่วนใหญ่

ปลายปี 1929 Martin เริ่มทำกีต้าร์สายเหล็กมากขึ้น และเริ่มมีชื่อเสียงสุดๆในช่วงปลายปี 1929 - 1942
นี่คือช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดของ Martin เรียกว่าเป็นช่วงรุ่งโรจน์ที่สุดในตอนนั้น มันคือวิวัฒนการของกีต้าร์
จากสายไนล่อนมาสู่สายเหล็ก นี่ก็คือส่วนหนึ่งที่ทำให้ Martin Prewar มีราคาสูง และเป็นที่ต้องการของนักสะสม

อะคูสติกไทย: จุดเด่น หรือสไตล์ของ Martin Prewar
ดร. รักษ์ : องค์ประกอบที่สำคัญคือ ไม้หน้า Adirondack Spruce ไม้หลังเป็น Brazilian Rosewood, ซึ่งไม้ประเภทนี้
ในสมัยนั้นหาได้ไม่ยาก และ Herringbone และต้อง scalloped X-bracing ด้วย หลักๆข้างต้นเป็นแบบนี้

อะคูสติกไทย: นิยมใช้สายกีต้าร์เบอร์อะไร
ดร. รักษ์ : ผมชอบใช้เบอร์ 12 มากที่สุด PHOSPHOR BRONZE ได้ซาวน์แบบที่ผมต้องการ

อะคูสติกไทย: การเก็บรักษากีต้าร์ในแบบ ดร.รักษ์
ดร. รักษ์ : ผมเก็บไว้ในกล่องตลอด แล้วก็ต้องค่อยสังเกตอากาศ ที่สำคัญคือความชื้น ผมจะมีเครื่องดูดความชื้น 

ทีมงานอะคูสติกไทย ขอขอบคุณ ดร. รักษ์ สำหรับข้อมูล สถานที่ และมาตินทุกๆรุ่น ที่ให้เรามีโอกาสได้นำเสนอ