หนึ่งในการดูแลรักษากีตาร์โปร่ง ให้อยู่กับเราไปนานๆ คือ “เรื่องความชื้น” ซึ่งเป็นเทคนิคแบบมืออาชีพ ที่เราต้องเรียนรู้
หากพูดถึงความชื้น มันคือศัตรูที่ร้ายกาจที่สุด! สำหรับกีตาร์โปร่ง …หลายท่านอาจจะเคยพบปัญหา
– ไม้หน้า(top) เกิดอาการบวม
– แรงดึงสาย(tension) มากขึ้น กด(สาย)คอร์ดแล้วรู้สึกแข็ง ไม่สบายมือ
– สะพานสาย หรือ Bridge ยกตัว คล้ายจะหลุดจากไม้หน้า
– Binding ที่เดินขอบรอบตัวกีตาร์ มีอาการแยกตัวจากขอบ Body กีตาร์
– เสียงกีตาร์ทึบๆ ไม่ใสกังวาน และปัญหาอื่นๆ ฯลฯ
ข้างต้นดังกล่าวมา เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาเรื่องไม้(กีตาร์) ที่อุ้มความชิ้นไว้มากเกินไป?!
ก่อนจะมาลงลึกๆ เรามาทำความรู้จัก และเข้าใจเรื่องความชื้น กันก่อน…
ความชื้นสัมพัทธ์ (Relative Humidity – rH) คืออะไร :
ความชื้น หรือ “ความชื้นสัมพัทธ์” (Relative Humidity หรือ rH) นั้น เป็นตัวบ่งชี้ถึงปริมาณความชื้นในอากาศ
โดยมีค่าหน่วยการบอกความชื้นเป็น “เปอร์เซ็นต์” แสดงถึงว่า ขณะนั้นๆ อากาศได้อุ้มความชื้นไว้เท่าไร
และยิ่งอุ้มความชื้นไว้มากเท่าไร เราจะรู้สึกเปียกชื้น รู้สึกเหนียวตัว เหงื่อแห้งช้า ไม่สบายตัว นั่นแสดงถึงว่า…
ความชื้นสัมพัทธ์สูงมากขึ้น หากว่าความชื้นสัมพัทธ์ มีค่าหรือสูงขึ้นมากถึง 100% หมายถึงว่า “ฝนกำลังจะตก”
ประเทศไทย ตั้งอยู่ในเขตร้อนใกล้เส้นศูนย์สูตร จึงทำให้ ภูมิอากาศของประเทศไทย มีลักษณะเป็นแบบ “ร้อนชื้น”
หากความชื้นไม่เหมาะสม (มากไป/น้อยไป) ย่อมมีผลกระทบตามมา
– ความชื้นในอากาศสูงเกินไป = รู้สึกเหนียวตัว ไม่สบายตัว, อาหารเกิดบูดเน่าเสียง่าย,
เครื่องใช้ที่เป็นโลหะเกิดคราบ/สนิมจับ/ดูหมอง, ถ้าวัสดุเป็นไม้ อาจจะเกิดการเสียรูปทรง(พองตัว) หรือเกิดเชื้อรา
– ความชื้นในอากาศต่ำเกินไป = ผิวหนังแห้งเพราะขาดความชุ่มชื้น, ถ้าวัสดุเป็นไม้ อาจจะเกิดการเสียรูปทรง(ยุบหรือหดตัวและร้าว)
มาถึงตรงนี้… มือใหม่หลายๆท่าน คงจะเริ่มเข้าใจในเรื่อง ความชื้นสัมพัทธ์ กันมากขึ้นแล้ว
คราวนี้ เราจะมาดูเรื่อง “ความชื้น กับ กีตาร์โปร่ง” ว่ามันเกี่ยวข้องกันอย่างไร…
ความชื้น กับ กีตาร์โปร่ง :
หลายๆ ท่านคงเคยได้ยินหลายท่านพูดว่า อย่าเก็บกีตาร์โปร่งไว้ในที่ร้อน
แต่ความจริงแล้ว กีตาร์โปร่ง กลัวอากาศที่มีความชื้น มากกว่าที่จะกลัวความร้อน
ความชื้นที่มากเกินไป ทำให้ไม้เกิดการเปลี่ยนรูป ไม้บวมร้าวแตกหัก ฯลฯ
ส่วนความร้อนทีมากเกินไป จะมีผลเสียต่อส่วนประกอบอื่นๆ เช่น แล๊คเกอร์บนผิวกีตาร์(Finish)
หรือ กาวที่ใช้ต่อชิ้นส่วนประกอบต่างๆของกีตาร์ (พวก Bracing เป็นต้น)
ความชื้นสูงในประเทศไทย ส่งผลต่อกีตาร์ในหลายๆ ด้าน
รวมไปถึงการเปลี่ยนสีของแล๊คเกอร์ที่เหลือง หรือเข้มขึ้น หลายๆท่าน คงจะเคยเห็นว่า
กีตาร์ตัวใหม่ในร้าน กับกีตาร์ที่ซื้อมาหลายปี มีสีไม้หน้า(top) ขาว/เข้ม ต่างกัน
หรือแม้แต่ส่วนคอ ส่วนขอบ(binding) ก็มีการเปลี่ยนแปลง เช่นกัน
กีตาร์ที่อยู่ในโซนอากาศเย็น เช่น ยุโรบ อเมริกา กับ กีตาร์ที่อยู่โซนอากาศร้อนในประเทศไทย
ย่อมมีสภาพที่ต่างกัน แม้จะมีอายุเท่าๆ กัน ก็ตาม
ความชื้นที่เหมาะสมสำหรับกีตาร์โปร่ง เฉลี่ยอยู่หว่างที่ 45-55% (percent humidity)
หากความชื้นมาก หรือ น้อยกว่านี้ ล้วนมีผลต่อโทนเสียง รูปทรงและโครงสร้างของกีตาร์
สุดท้าย ส่งผลต่อภาพรวมของความสมูรณ์และอายุการใช้งานของกีตาร์
– ความชื้นสูง (เฉลี่ยที่สูงกว่า 80%)
ผลกระทบคือ ไม้บวม ขยายตัว เสียทรง ทำให้เกิดแรงดึง (tension) สายกีตาร์ที่เพิ่มขึ้น
โดยเฉพาะไม้หน้า(top) จะเกิดอาการยกตัวหรือโก่งขึ้น ส่งผลให้ Action สูงขึ้น ให้ดูที่ Fret 12 จะเห็นชัดเจน
ผู้เล่นต้องใช้แรงนิ้วเพื่อกดสายมากขึ้น
เหตผลที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากไม้หน้า เป็นส่วนที่ต้องรับแรงดึงของสายกีตาร์ โดยตรง
และ ไม้ส่วนนี้ เป็นไม้เนื้ออ่อน และมีความบาง จึงได้รับผลกระทบสูงกว่าไม้ข้างและหลัง(Back & Side)
นอกจากนั้น จากการโก่งขึ้นของไม้หน้า จะทำให้สะพานสาย(Bridge) ต้องรับแรงดึงของสายที่เพิ่มขึ้น
หากแรงดึง(tension) เพิ่มมากเกินไป อาจทำให้ Bridge เกิดอาการยกตัว กระทั่งฉีกจากไม้หน้า ได้
– ความชื้นต่ำ (เฉลี่ยที่ต่ำกว่า 25%) ในเมืองไทย ไม่ค่อยได้เจอะปัญหานี้ อาจจะมีบางช่วงเวลาเท่านั้น
ไม้หน้า(top) จะได้รับผลกระทบมากเช่นเดียวกันกับในช่วงความชื้นสูง แต่ผลลัพท์ต่างกัน
ผลกระทบคือ ไม้หดตัว มีอาการท้องยุบ เสียทรง อาจถึงเกิดการแตกร้าว(ตัวและคอกีตาร์) รวมถึงบริเวณแลคเกอร์บนผิวกีตาร์(Finish)
หรือ กาวที่ใช้ต่อชิ้นส่วนประกอบต่างๆของกีตาร์ (พวก Bracing เป็นต้น)
ช่วงอากาศแห้งมากๆ โอกาสเกิดการแตกร้าวมีสูงมาก สังเกตว่า Action จะต่ำลงกว่าปกติ
หากต่ำมากๆ จะมีผลให้เกิดการ Buzz(สายกระทบกับ Fret) แต่ก็มีข้อดีที่ว่า เมื่อไม้ไม่มีความชื้น (อากาศที่แห้ง ไม้ก็จะแห้งตาม)
จะช่วยทำให้การสั่นของไม้ดีขึ้น เมื่อไม้สั่นตัวได้ดี มีอิสระมากขึ้น เสียงก็จะมีความละเอียดอ่อน และตอบสนองได้ดี
ดังนั้น “อากาศที่ชื้นไป หรือ แห้งไป” ไม่ส่งผลดีแน่นอน จึงต้องมั่นตรวจสอบ และรู้จักวิธีการควบคุมความชื้น เพื่อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
วิธีการตรวจสอบความชื้น :
นอกจากจะมีเครื่องมือสำหรับตรวจสอบวัดความชื้น เช่น Hygrometer แล้ว
การตรวจสอบแบบเฝ้าสังเกต ก็สามารถคาดการณ์ได้ว่า ความชื้นในขณะนั้น เป็นเช่นไร ? ยกตัวอย่าง เช่น
1. การสังเกตจากความรู้สึก ผ่านร่างกาย ของเรา
– อากาศเริ่มร้อน รู้สึกเหนียวตัว เหงื่อแห้งช้า เหมือนฝนจะตก คืออาการแสดงให้เห็นว่า ความชื้นเริ่มสูงกว่าปกติ
– อากาศเริ่มหนาวเย็น รู้สึกผิวแห้ง แสบผิว ริมฝีปากแห้ง คืออาการแสดงให้เห็นว่า ความชื้นเริ่มต่ำกว่าปกติ
2. การสังเกต ผ่านกีตาร์โปร่ง ของเรา
– ระดับของสายหรือ Action เริ่มสูงขึ้นกว่าปกติ แรงดึงสายมากขึ้น(ต้องใช้แรงกดเยอะ)
เสียงกีตาร์ทึบๆ ไม่กังวาน แสดงถึงความชื้นเริ่มมากขึ้น
– ระดับของสายหรือ Action เริ่มต่ำกว่าปกติ เสียงกีตาร์ใสกังวานมากขึ้นกว่าปกติ แต่เสียงเพี้ยนบ่อย
ต้องตั้งสายกีตาร์ บ่อยๆ แสดงถึง ความชื้นเริ่มต่ำ อากาศเริ่มแห้ง
*** อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนแนะนำให้หาซื้อ เครื่องมือวัดความชื้นสัมพัทธ์ (Hygrometer) มาไว้ในกล่องกีตาร์ จะดีที่สุด ***
วิธีการป้องกันความชื้น เพื่อดูแลกีตาร์โปร่ง :
อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว หลายๆ ท่าน คงจะเริ่มกังวน และมีคำถามว่า แล้วเราจะป้องกัน และ ดูแลกีตาร์ของเรา อย่างไร ?
ในที่นี่ ผู้เขียนขอแนะนำการป้องกัน ดูแล และ แก้ไข แบบเบื้องต้น เพื่อใช้เป็นแนวทางในการป้องกันปัญหา
เพื่อดูแลกีตาร์โปร่งอันเป็นที่รักของท่าน เรามาเริ่มต้นจาก… กรณีที่ความชื้น สูงเกินไป
(โดยพูดถึงเรื่องความชื้นสูงเกินไป ข้ามเรื่องอากาศแห้งเกินไป เพราะในเมืองไทย ไม่พบปัญหานั้น)
ดูดความชื้น ด้วยเม็ดซิลิก้าเจล (Silica-Gel) :
ผู้เขียนเชื่อว่า หลายๆ ท่าน คงมีความคุ้นชิ้น กับสารดูดความชื้น ที่เรียกว่า “Silica gel” ใสๆ ที่อยู่ในซองเล็กๆ
หลายๆท่าน นำไปใส่ไว้ในตัวกีตาร์โปร่ง โดยเชื่อว่า มันจะช่วยดูดความชื้นได้ อาจจะจริง… แต่…ในความจริงแล้ว
“Silica gel” ชนิดแบบซองเล็กๆ เพียง 1-2 ซอง ที่ใส่ลงไปในตัวกีตาร์ มันแทบไม่ช่วยอะไรเลย
หากต้องการใช้วิธีนี้ ควรจะใส่ในปริมาณที่มากพอ (คงจะมากกว่า 10-20 ซอง)
แต่ที่สำคัญ… เมื่อผ่านไป 2-3 วัน ซิลิก้าเจลเม็ดขาวเล็กๆ ก็จะดูดอมความชื้นเอาไว้โดยไม่สามารถปล่อยความชื้นออกมาได้ด้วยตัวเอง
นั้นหมายความว่า ซิลิก้าเจลที่อยู่ในตัวกีตาร์โปร่งเรานั้น ก็จะไม่มีประโยชน์ใดๆ อีกต่อไป
ซิลิก้าเจล แบ่งเป็น 2 ชนิด หลักๆ คือ
1. ชนิดเม็ดสีขาว (White Silica Gel)
เม็ดสีขาวใส จะไม่มีการเปลี่ยนสภาพเพื่อบ่งบอกว่า ดูดความชื้นมามากหรือน้อยเท่าใด
ผู้เขียนจึงไม่แนะนำให้ใช้ชนิดนี้ และขอแนะนำให้ใช้แบบ ชนิดเม็ดสีน้ำเงิน (Blue Silica Gel)
2. ชนิดเม็ดสีน้ำเงิน (Blue Silica Gel)
มีคุณสมบัติในการดูดความชื้นเหมือนกับเม็ดสีขาวทุกประการ เพียงแต่มีการเพิ่มสารพิเศษ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ
ในการตรวจวัดปริมาณความชื้นที่กักเก็บไว้ ทำให้ผู้ใช้รู้ว่า มีการเก็บความชื้นไว้ในปริมาณเท่าไร
ซิลิก้าเจล ชนิดเม็ดสีน้ำเงิน (Blue Silica Gel) จะเปลี่ยนสีไปเรื่อยๆ
– ดูดความชื้นไว้ 20 % จากสีน้ำเงิน เปลี่ยนเป็น-> สีฟ้า
– ดูดความชื้นไว้ 35 % จากสีน้ำเงิน เปลี่ยนเป็น-> สีม่วง
– ดูดความชื้นไว้ 50 % จากสีน้ำเงิน เปลี่ยนเป็น-> สีชมพู (หมดอายุในการใช้งาน)
เมื่อหมดอายุการใช้งานแล้ว ก็ต้องทิ้ง หรืออาจจะใช้วิธี ไล่ความชื้นทิ้งด้วยความร้อน แล้วนำกลับมาใช้ใหม่
ซึ่งเป็นวิธีการที่ยุ่งยาก และต้องทำซ้ำบ่อยๆ ผู้เขียนจึงขอแนะนำ ให้ง่ายขึ้น ด้วยการเลือกใช้แบบ “เครื่องดูดความชื้นแบบไฟฟ้า”
ที่สามารถนำไปเสียบปลั๊กไฟเพื่อไล่ความชื้นออก แล้วนำกลับมาใช้ได้เหมือนเดิม ซึ่งจะสะดวกกว่ามาก
มาถึงตรงนี้ ผู้เขียนหวังว่า ทุกๆ ท่าน จะได้เข้าใจเรื่อง “ความสัมพันธ์ระหว่างความชื้นกับกีตาร์โปร่ง”
และ จะได้หลักการข้างต้น ในการหาวิธีดูแลกีตาร์โปร่งที่คุณรัก ให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์
เพราะหากสามารถควบคุมความชื้นให้เหมาะสม นอกจากจะดูแลกีตาร์ ให้ปลอดภัยแล้ว
สิ่งสำคัญอีกประการคือ…ทำให้กีตาร์สามารถถ่ายทอดเสียงได้ละเอียดมากขึ้น (เสียงเปิดดีขึ้น) เพราะไม้ไม่อุ้มความชื้นไว้สูงเกินไป นั่นเอง.
เขียน/เรียบเรียงโดย ทีมงาน http://acousticthai.net/